กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ที่ระดับ 'AA+(tha)'
หุ้นกู้ดังกล่าวประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 2 ชุด ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2566 ปี 2569 โดยมีจำนวนเงินรวมไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาท เงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวจะนำไปใช้สำหรับเป็นเงินลงทุน และ/หรือ เงินทุนหมุนเวียน หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทที่ 'AA+(tha)' เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิของบริษัท
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อันดับเครดิตเดียวกับ AIS: อันดับเครดิตของ AWN เท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่าง AWN และ AIS ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria)
AIS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่สุดในประเทศไทย ถือหุ้นทั้งหมดใน AWN และมีอำนาจควบคุมการบริหารและการดำเนินงานของ AWN ทั้งหมด AWN เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G, 2.1GHz ในปี 2555 และ 4G, 1.8GHz ในปี 2558 ดังนั้น AWN จึงมีความสำคัญต่อ AIS อย่างมาก ในฐานะเป็นผู้ให้บริการในระบบใบอนุญาตของกลุ่ม สัดส่วนรายได้ และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่มาจาก AWN อยู่ในระดับสูงกว่า 75% และ 90% ตามลำดับ ในปี 2558
ความแข็งแกร่งด้านการให้บริการด้านข้อมูล: AIS น่าจะยังคงได้รับประโยชน์จากการเติบโตของการใช้บริการด้านข้อมูล เนื่องจากคุณภาพโครงข่ายที่มีคุณภาพ บริษัทได้มีการลงทุนเพื่อขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G อย่างมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา และบริษัทได้เริ่มลงทุนก่อสร้างโครงข่าย 4G ในเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งทำให้คุณภาพการให้บริการด้านข้อมูลดีขึ้นอีก การเติบโตของรายได้ที่ไม่ใช่เสียง ของ AIS อยู่ในระดับสูงกว่าอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมโดยรวมในช่วงสองปีที่ผ่านมา การเติบโตที่แข็งแกร่งของรายได้ที่ไม่ใช่เสียงน่าจะช่วยชดเชยการลดลงของรายได้จากเสียงในช่วงหนึ่งถึงสองปีข้างหน้า
กำไรลดลงในปี 2559: ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) ของ AIS จะปรับตัวลดลง 17% มาอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ในปี 2559 กำไรที่ลดลงเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการที่ AIS ต้องหยุดการให้บริการเครือข่าย 2G บนคลื่นความถี่ 900MHz เนื่องจากบริษัทไม่สามารถชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ในเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมาได้ โดย AIS ต้องเสนอส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์ (Handset Subsidy) เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้บริการที่ยังใช้โทรศัพท์ 2G ย้ายไปใช้บริการเครือข่าย 3G ก่อนที่จะมีการหยุดการให้บริการเครือข่าย 2G ในวันที่ 14 เมษายน 2559 AIS คาดว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการให้ส่วนลดค่าเครื่อง และการเช่าใช้เครือข่าย 2G จะอยู่ที่ประมาณ 8 พันล้านบาท ในปี 2559
ความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมที่ลดลง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ของ AIS จะอยู่เกินกว่า 1.5 เท่าเล็กน้อย ในปี 2559 เนื่องจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ลดลง โดยฟิทช์มองว่าอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวที่เหมาะสมกับอันดับเครดิตปัจจุบันของ AIS ควรอยู่ต่ำกว่า 1.5 เท่า อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวจะปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1.5 เท่า ในปี 2560 เนื่องจากคาดว่ากระแสเงินสดของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้น จากการที่ไม่มีค่าใช้จ่ายจากการให้ส่วนลดค่าเครื่อง และการเช่าใช้เครือข่าย 2G อย่างไรก็ตามฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตของ AIS หากอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของกำไรไม่เป็นไปตามคาด หรือการที่หนี้สินปรับตัวสูงขึ้น ณ สิ้นปี 2558 อัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน ของ AIS ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1.0 เท่า
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้จากการให้บริการเติบโตในระดับต่ำตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป
- กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDAR Margin) อยู่ที่ระดับ 35%-40% ในปี 2559 และ 2560
- เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายอยู่ที่ 3.5-4.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2559 และ 2560
- จ่ายเงินปันผล 100% ของกำไรสุทธิ
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก
- การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ AIS
ปัจจัยลบ
- การปรับลดอันดับเครดิตของ AIS
- ความสัมพันธ์ระหว่าง AIS และ AWN ที่ลดลง รวมถึงการลดสัดส่วนการถือหุ้นของ AIS ใน AWN
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตของ AIS ตามรายงานการจัดอันดับเครดิตลงวันที่ 27 ตุลาคม 2558 มีดังนี้
ปัจจัยบวก
- บริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) เป็นบวก อย่างต่อเนื่อง
- EBITDAR Margin ของบริษัทสูงกว่า 45% อย่างต่อเนื่อง (ในปี 2558 อยู่ที่ 46.6%)
ปัจจัยลบ
- การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage สูงกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง (2558: 1.0x)
- การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย หรือกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมที่ส่งผลในแง่ลบต่อบริษัท