กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--กรมประมง
การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ "อาหาร" ถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากปัจจัยหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับสัตว์น้ำวัยอ่อน ชนิดและขนาดของอาหารต้องมีความสัมพันธ์กับระยะการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ "แพลงก์ตอน" ถือเป็นอาหารตามธรรมชาติขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการถ่ายทอดพลังงานในห่วงโซ่อาหารจัดเป็นแหล่งอาหารขนาดใหญ่ ที่มีความสำคัญมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นน้ำจืด น้ำกร่อย หรือน้ำทะเล โดยทั่วไปแพลงก์ตอนจะสามารถแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ตามลักษณะการสังเคราะห์อาหาร ได้แก่ แพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ ซึ่งชนิดและปริมาณของแพลงก์ตอนที่พบในแหล่งน้ำนอกจากจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำได้แล้วนั้น แพลงก์ตอนยังมีประโยชน์ในด้านการรักษาคุณภาพน้ำได้อีกด้วย เนื่องจากขณะที่แพลงก์ตอนมีการสังเคราะห์แสงจะมีการปล่อยออกซิเจนออกมาละลายในน้ำและจะนำสารอินทรีย์ที่ไม่เป็นพิษต่อสัตว์น้ำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น แอมโมเนีย ไนไตรท์ หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น
ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อนนอกจากการมีระบบการอนุบาลสัตว์น้ำที่ดีแล้ว การได้กินอาหารที่ดีก็จะส่งผลให้สัตว์น้ำมีอัตราการรอดเพิ่มมากขึ้น อาหารที่ดีของสัตว์น้ำขนาดเล็กจะต้องมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนเพียงพอกับความต้องการของสัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อที่จะพัฒนารูปร่างให้เป็นแบบเดียวกับพ่อแม่ ปัจจุบันทางกรมประมงสามารถเพาะเลี้ยงแพลงก์ตอนทั้งชนิดที่เป็นพืชและสัตว์ได้หลากหลายชนิด อาทิ คลอเรลลา คีโตเซอรอส สเกลีโตนีมา โรติเฟอร์ อาร์ทีเมีย ฯลฯ เพื่อช่วยลดต้นทุนในเรื่องของอาหารและการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และล่าสุดนี้กรมประมงได้มีการทดลองเพาะเลี้ยงโคพีพอดในบ่อดินได้สำเร็จอีกหนึ่งชนิด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง
นายสุทธิชัย ฤทธิธรรม ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กล่าวว่า โคพีพอด (Copepod)เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ที่พบในทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน นับเป็นห่วงโซ่อาหารสำคัญที่เชื่อมระหว่างแพลงก์ตอนพืชกับสัตว์น้ำ โคพีพอดมีองค์ประกอบของสารอาหารสำคัญทางโภชนาการที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการรอดของสัตว์น้ำวัยอ่อน อาทิ โปรตีนและกรดไขมันที่จำเป็นโดยเฉพาะ DHA EPA ฯลฯ ซึ่งสัตว์น้ำกร่อยหรือทะเลไม่สามารถผลิตกรดไขมันเหล่านี้ขึ้นเองได้ ดังนั้นการศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนเพื่อเพิ่มอัตรารอดให้มากที่สุดก็ย่อมส่งผลต่อปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำอีกด้วย จากคุณประโยชน์ดังกล่าว โคพีพอดจึงถูกจัดเป็นอาหารมีชีวิตที่ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมักนำไปใช้ร่วมกับโรติเฟอร์และอาร์ทีเมีย ในการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม อาทิ ปลานิล ปลากะพงขาว ปลากะรัง ปลาการ์ตูน เป็นต้น
นางพิชญา ชัยนาค นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ตกล่าวเพิ่มเติมในฐานะที่เป็นนักวิชาการผู้เพาะเลี้ยงโคพีพอดในบ่อดินว่า ลักษณะโดยทั่วไปของโคพีพอดลำตัวจะมีรูปร่างยาวรี ลำตัวจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนหัว อก และท้อง นับเป็นอาหารธรรมชาติขนาดเล็กที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้เป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อน เนื่องจากโคพีพอดมีกรดไขมันที่จำเป็นต่อพัฒนาการของสัตว์น้ำวัยอ่อนและสามารถย่อยได้ง่ายในระบบทางเดินอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อนซึ่งมีการพัฒนาระบบการมองเห็นและระบบทางเดินอาหารยังไม่สมบูรณ์จึงเป็นข้อจำกัดในการจับกินและการย่อยอาหารในช่วงแรกหลังฟักออกจาก ไข่ ซึ่งในช่วงระยะเวลา 1-3 วัน หลังจากที่สัตว์น้ำฟักตัวออกจากไข่ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่จะกำหนดให้เราทราบว่าสัตว์น้ำที่เราเพาะพันธุ์นั้นมีอัตราการรอดมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากสัตว์น้ำวัยอ่อนเริ่มรับอาหารจากภายนอกหลังจากถุงไข่แดงยุบในช่วงระยะเวลานี้ ซึ่งจากการทดลองวิจัยพบว่าโคพีพอดระยะตัวอ่อนมีขนาดเล็กกว่า โรติเฟอร์จึงเหมาะสมต่อการกินของสัตว์น้ำวัยอ่อนที่มีขนาดความกว้างของปากค่อนข้างเล็กช่วยเพิ่มการรอดตาย
สำหรับวิธีเพาะขยายพันธุ์โคพีพอดทางศูนย์ฯ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมบ่อ ทำคอกใส่ปุ๋ย ทำโพงพางในบ่อดินเพื่อใช้สำหรับดักเก็บโคพีพอด ปรับปรุงดินพื้นบ่อด้วยการโรยปูนขาวให้ทั่วบ่อ ติดตั้งระบบให้อากาศและการหมุนเวียนน้ำภายในบ่อดิน เปิดน้ำเข้าบ่อ ให้ได้ระดับน้ำในบ่อลึกประมาณ 30-50 เซนติเมตรเพื่อกระตุ้นให้อาหารธรรมชาติมีเพิ่มมากขึ้น กำจัดศัตรูต่างๆ ของโคพีพอด เช่น ลูกกุ้ง ลูกปลา ด้วยการโรยกากชา 20-25 กิโลกรัม/ไร่ ให้ทั่วบ่อและแช่ทิ้งไว้ในบ่อดิน 3-5 วัน การเตรียมน้ำ น้ำที่ใช้เลี้ยงควรอยู่ในช่วงความเค็ม15-30 ความเป็นกรด-ด่าง ระหว่าง 7-8 ปรับค่าความเป็นกรด-ด่างด้วยปูนขาว การเตรียมอาหารมีชีวิต จะทำแพลงก์ตอนที่เป็นอาหารมีชีวิตให้กับโคพีพอดด้วยการใส่ปุ๋ยคอก เมื่อน้ำเริ่มมีสีเขียวเพิ่มมากขึ้นให้ชักน้ำเข้าบ่อมากขึ้นจนมีระดับลึกประมาณ 1.6-1.8 เมตร สีน้ำที่เหมาะสมต่อการเกิดแพลงก์ตอนควรมีสีเขียวอมน้ำตาลการเตรียมพ่อแม่พันธุ์ การลงพ่อแม่พันธุ์โคพีพอดระยะโคพีโพไดซ์-ตัวเต็มวัย การจัดการการผลิตโคพีพอดในบ่อดิน หลังจากเตรียมอาหารมีชีวิตเสร็จประมาณ 3-5 วัน นำพ่อแม่พันธุ์โคพีพอดลงเลี้ยงประมาณ 3-4สัปดาห์ จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้โดยเปิดใบพัดตีน้ำโคพีพอดจะเข้าถุงโพงพางจากนั้นเก็บโคพีพอดด้วยสวิง หลังจากเก็บเกี่ยวได้ 5-7 วัน โคพีพอดจะเริ่มลดลง จึงควรเติมอาหารที่ทำให้เกิดแพลงก์ตอนลงไป เช่น ปุ๋ยคอก เศษปลาสด เป็นต้น โดยเติมอาหารลดลงไปจากเดิมครึ่งหนึ่งหรือปรับปริมาณจากการสังเกตุปริมาณโคพีพอดในบ่อ โคพีพอดจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีกภายใน 7-8 วัน
นายธวัช ศรีวีระชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับผลการวิจัยในขณะนี้ถือว่าน่าพึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง ทางศูนย์วิจัยฯ สามารถผลิตโคพีพอดได้ประมาณเดือนละ 100-120 กก. ราคาขายอยู่ที่ กก.ละ 300 บาท และคาดว่าต่อไปอนาคตหากโคพีพอดจะได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นซึ่งก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยลดต้นทุนในกับผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สำหรับการต่อยอดการวิจัยโคพีพอดในบ่อดิน ทางศูนย์ฯ มีแผนที่จะพัฒนาเป็นการเลี้ยงโคพีพอดความหนาแน่นสูงในถังไฟเปอร์กลาสเพื่อให้ได้ปริมาณมากในพื้นที่จำกัด ง่ายต่อการดูแล และการควบคุมโรคที่ส่งผลต่อการเลี้ยงโคพีพอดและการใช้เป็นอาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน
สำหรับท่านใดสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต โทร. 076-621-821-2