ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2543 ดีขึ้น

ข่าวทั่วไป Thursday March 8, 2001 08:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--ตลท.
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนประจำปี 2543 ปรากฎว่าบริษัทจดทะเบียนในหมวดอุตสาหกรรมและบริการมีผลประกอบการดีขึ้นร้อยละ 408 กลุ่มที่มีกำไรสุทธิ 5 กลุ่มแรก ได้แก่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คโทรนิคส์ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มเยื่อกระดาษและกระดาษ กลุ่มพลังงาน และกลุ่มสื่อสาร ส่วนกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขาดทุนลดลงจากปีก่อนถึงร้อยละ 97 ในขณะที่กลุ่มธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์มีผลประกอบการดีขึ้นถึงร้อยละ 107
นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า "ณ วันที่ 2 มีนาคม 2544 มีบริษัทจดทะเบียนนำส่งงบการเงิน สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2543 แล้วจำนวน 364 บริษัท จากบริษัททั้งสิ้น 381 บริษัท ปรากฏว่าบริษัทที่มีผลกำไรสุทธิมีจำนวน 230 บริษัท ส่วนที่มีผลขาดทุนสุทธิมีจำนวน 134 บริษัท โดยบริษัทในหมวดอุตสาหกรรมและบริการ ไม่รวมสถาบันการเงินและบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูการดำเนินงาน (กลุ่ม REHABCO) มีผลการดำเนินงานดีขึ้น กล่าวคือมีผลกำไรสุทธิรวม 21,788 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 7,080 ล้านบาท หรือมีผลประกอบการดีขึ้นร้อยละ 408 อย่างไรก็ตาม หากรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในหมวดสถาบันการเงินและกลุ่ม REHABCO บริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์จะมีผลขาดทุนสุทธิ 13,760 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิรวม 429,867 ล้านบาท"
ทั้งนี้ บริษัทกลุ่มอุตสาหกรรมภาคการผลิตและบริการซึ่งเป็นบริษัทส่วนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ (ไม่รวมสถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่ม REHABCO) จำนวน 295 บริษัท มีผลกำไรสุทธิรวมสำหรับปี 2543 จำนวน 21,788 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 7,080 ล้านบาท หรือมีผลประกอบการดีขึ้นถึงร้อยละ 408 หากไม่รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเท่ากับ 33,350 ล้านบาท จะมีกำไรก่อนผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 57,338 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไร 10,618 ล้านบาท
ด้านยอดขายของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมภาคการผลิตและบริการในปี 2543 มีจำนวนที่เพิ่มขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตจาก 1,169,123 ล้านบาทในปี 2542 เป็น 1,354,218 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 16 ในขณะที่มีอัตรากำไรขั้นต้นใกล้เคียงกับปีก่อนที่ระดับร้อยละ 21 ทำให้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.29 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีอัตราผลตอบแทนติดลบร้อยละ 1.10 และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.95 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีอัตราผลตอบแทนติดลบร้อยละ 0.32
นายวิชรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "จากการรายงานผลการดำเนินงานในปี 2543 ที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสุทธิมีจำนวน 22 กลุ่ม โดยกลุ่มที่มีกำไรสูงสุด 5 กลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเลคโทรนิคส์ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มเยื่อกระดาษและกระดาษ กลุ่มพลังงาน และกลุ่มสื่อสาร ซึ่งมีกำไรสุทธิปี 2543 รวมกัน 27,373 ล้านบาท โดยเป็นกำไรที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิรวม 5,075 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลประกอบการที่ดีขึ้นถึงร้อยละ 639 ทั้งนี้เป็นผลมาจากอัตราการเติบโตของยอดขายในอัตราร้อยละ 27 โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่ร้อยละ 26 และมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 10,451 ล้านบาท"
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลขาดทุนมีจำนวน 6 กลุ่ม โดยกลุ่มที่มีผลขาดทุนสูงสุด 5 กลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มขนส่ง กลุ่มเคมีภัณฑ์และพลาสติก กลุ่มบันเทิงและสันทนาการ และกลุ่มบรรจุภัณฑ์ มีผลขาดทุนสุทธิรวมกัน 23,150 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีผลขาดทุน 10,818 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 114 ซึ่งการขาดทุนดังกล่าวเป็นผลจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นจาก 2,442 ล้านบาท ในปี 2542 เป็น 19,137 ล้านบาท ในปี 2543 หรือขาดทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 684
สำหรับผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินซึ่งได้แก่กลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ปรากฏว่า ธนาคารพาณิชย์ 13 แห่ง และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีผลขาดทุนสุทธิรวม 10,288 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีผลขาดทุน 332,259 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 97 ทั้งนี้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญครบถ้วนตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว และผลจากการที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โอนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Company: AMC) และมีกำไรจากรายการนี้ 108,000 ล้านบาท ประกอบกับมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิก่อนสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 145 อันเป็นผลจากการมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spread) ในระดับสูง
ส่วนสถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์จำนวน 20 บริษัท มีผลกำไรสุทธิ 1,401 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีผลขาดทุน 20,931 ล้านบาท หรือมีผลประกอบการดีขึ้นร้อยละ 107 เนื่องจากการไม่ต้องมีภาระการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญและการมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิก่อนตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
นายวิชรัตน์ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ กล่าวเสริมว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2543 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้แล้วมีอัตราร้อยละ 50 โดยมีบริษัทจดทะเบียนที่รายงานความคืบหน้าการปรับโครงสร้างหนี้มาทั้งสิ้นจำนวน 143 บริษัท โดยมียอดหนี้ที่ปรับโครงสร้างได้เรียบร้อยแล้วจำนวนรวมทั้งสิ้น 719,785 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของมูลหนี้ทั้งหมด ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 เดือนธันวาคม 2542 ที่มีหนี้ที่ปรับโครงสร้างได้ 251,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 186 ทั้งนี้ มียอดหนี้ที่ใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้เป็นการขยายอายุหนี้จำนวน 338,299 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ใช้วิธีการแปลงหนี้เป็นทุนและหุ้นกู้ 71,978 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 ใช้วิธีการลดเงินต้นและดอกเบี้ย จำนวน 57,583 ล้านบาท ใช้วิธีการโอนขายทรัพย์สินและวิธีอื่น ๆ จำนวน 251,925 ล้านบาท ทั้งนี้ยังคงมีหนี้ที่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับโครงสร้างจำนวน 266,477 ล้านบาท
สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการข้อมูลงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนโปรดติดตามได้จากระบบข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ (ISIMS) หรือ website ของตลาดหลักทรัพย์ ที่ www.set.or.th
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อส่วนประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสารนิเทศ
ลดาวัลย์ ไทยธัญญพานิช โทร. 229 - 2036
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร.229 - 2037
จิวัสสา ติปยานนท์ โทร. 229 - 2039--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ