กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--AD2Y Communication
คุณคิดว่า สถิติเหล่านี้มีความหมายใดๆ หรือไม่...คนไทยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 65,000 คนต่อปี เสียชีวิตชั่วโมงละ 7 คน, 9 นาทีเสียชีวิต 1 คน และคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 40-60 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงาน!...แน่นอนความสูญเสียเกิดขึ้นมากมายในแต่ละปีในฐานะหน่วยงานที่ได้รณรงค์เรื่องสุขภาพหัวใจมาโดยตลอด แต่อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจของคนไทยแทนที่จะลดลงเช่นประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ สก็อตแลนด์ และอังกฤษ กับเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี เมื่อปี2547 มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปภัมถ์ ร่วมกับภาควิชาโภชนวิทยาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มจัดโครงการ “อาหารไทย หัวใจดี” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษาในปี 2548 มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปภัมถ์ โดยคณะกรรมการโครงการ “อาหารไทย หัวใจดี” ได้รณรงค์ให้ผู้ผลิตได้ใช้ตราสัญลักษณ์ “อาหารรักษ์หัวใจ” ติดบนฉลากอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกอาหารที่ดีกับหัวใจได้ง่ายขึ้น
แพทย์หญิง คุณสวรรยา เดชอุดม ประธานฝ่ายวิชาการและกรรมการมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย และประธานอนุกรรมการ โครงการ “ อาหารไทย หัวใจดี ” ได้บอกที่มาของการใช้ตราสัญลักษณ์ “ อาหารรักษ์หัวใจ ” “ โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในรอบ 20 ปีนี้ ดังสถิติข้างต้น เราพบว่า อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคนี้ จึงเป็นที่มาของโครงการ “ อาหารไทย หัวใจดี ” เฉลิมหล้า ๗๒ พรรษา มหาราชินี เพื่อให้สอดคล้องกับสหพันธ์หัวใจโลก ที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงเป็นพลังสำคัญในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ประเทศนิวซีแลนด์ ได้ใช้ตรา pick and the tick ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนได้เลือกอาหารเพื่อสุขภาพหัวใจได้โดยสะดวกและได้ผลดี คณะกรรมการบริหารมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้มอบหมายให้จัดคณะอนุกรรมการดำเนินงานเพื่อ สนับสนุนและส่งเสริมผลิตภัณฑ์อาหารไทยที่มีคุณภาพเหมาะสมและไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยใช้ตราสัญลักษณ์ ‘อาหารรักษ์หัวใจ’ เป็นเครื่องหมาย หากมีผลิตภัณฑ์ อาหารที่ได้รับอนุญาตให้ติดตรา “อาหารรักษ์หัวใจ” ก็จะช่วยให้คนเตรียมอาหารเลือกอาหารที่ดีต่อหัวใจได้สะดวกขึ้น และเป็นการสนับสนุนให้ผู้ผลิตอาหาร เจ้าของสินค้า ได้ผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพด้วย ยิ่งเรารณรงค์การเป็นครัวโลกก็ยิ่งต้องแสดงคุณค่าที่ดีของอาหารที่ผลิตในประเทศเรา และให้ต่างประเทศเห็นว่า เราใส่ใจในคุณภาพของอาหารที่ผลิตในบ้านเราเอง
“ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารที่จะได้รับอนุญาตติด ตราสัญลักษณ์ “อาหารรักษ์หัวใจ” นั้น ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ สำหรับประเภทอาหารที่รับพิจารณาในเบื้องต้น นั้น มีอยู่ 6 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีเกณฑ์พิจารณาดังนี้ คือ
1. ธัญชาติและผลิตภัณฑ์ - พิจารณาใยอาหารและปริมาณเกลือและไขมันไม่สูงเกินกำหนด
2. อาหารทะเล เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์ - พิจารณาปริมาณไขมัน สัดส่วนชนิดของไขมัน และเกลือไม่มากเกินไป
3. นมและผลิตภัณฑ์นม — พิจารณาระดับไขมัน และสัดส่วนของไขมันที่เหมาะสม ระดับน้ำตาลและเกลือไม่สูงเกินกำหนด
4. น้ำมัน — พิจารณาสัดส่วนของไขมันที่เหมาะสม และปริมาณวิตามินอีตามเกณฑ์กำหนด
5. ถั่วและผลิตภัณฑ์ถั่ว - พิจารณาระดับไขมัน และสัดส่วนที่เหมาะสม ระดับน้ำตาลและเกลือไม่สูงเกินกำหนด
6. น้ำดื่ม — เป็นการส่งเสริมให้มีการดื่มน้ำเปล่าแทนที่น้ำอัดลมหรือน้ำชนิดอื่นๆ
“โดยผู้ผลิตสินค้าทั้ง 6 กลุ่มสามารถยื่นแสดงความจำนงมายังกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ใช้ตรา “อาหารรักษ์หัวใจ” ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นตันไป เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติถูกต้องตามเกณฑ์ ผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ฯนี้ครั้งละ 2 ปี และสามารถต่ออายุได้ถ้ายังคงคุณภาพตามเกณฑ์ ส่วนสินค้าใดที่ไม่ผ่านการเกณฑ์ที่กำหนดก็สามารถไปปรับปรุงแล้วยื่นความจำนงมาใหม่ได้เช่นกัน โดยขั้นตอนการพิจารณาก่อนอนุมัติใช้ตราสัญลักษณ์ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
ในอดีตประเทศไทยยังมีผู้ป่วยโรคหัวใจไม่สูงเท่าในปัจจุบัน แต่เมื่อเราได้รับความเจริญทางวัตถุ และเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบตะวันตกมา ซึ่งรวมถึงค่านิยมเรื่องการบริโภคอาหาร ที่ส่วนใหญ่จะเป็นจานด่วนมักจะเป็นอาหารทอด ไขมันสูง ปริมาณมาก ตามคำโฆษณาที่ชวนเชื่อว่ายิ่งมาก ยิ่งได้เปรียบ ทั้งยังใช้ชีวิตที่ล้วนแล้วแต่มีเครื่องผ่อนแรง จนขาดการออกกำลังกายบวกกับสูบบุหรี่ ยิ่งเป็นตัวเร่งการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคนี้เป็นอันตรายต่อชีวิตคนไทยเพิ่มมาก ถ้าทุกคนไม่ช่วยกันป้องกันตนเอง เราจะสูญเสียทรัพยากรบุคคลของประเทศ ประเทศอื่นเขาหันมากิน ข้าว กินปลา กินผักผลไม้ เพื่อปลอดภัยจากโรคหัวใจ เราอย่ามัวล้าหลังเดินตามทางที่ผิดของต่างประเทศเขา อาหารไทยเราดีๆ มีเยอะ โดยเฉพาะผักผลไม้ แล้วเราจะมีอายุยืนนานได้ การที่ผู้ผลิตภัณฑ์อาหาร ใช้ตราสัญลักษณ์ ‘อาหารรักษ์หัวใจ’ จะเป็นจุดเริ่มต้นและตัวช่วยที่ดีสำหรับตนเอง และลูกค้าค่ะ
“ ตราสัญลักษณ์อาหารรักษ์หัวใจ ” นี้แสดงว่าอาหารมีไขมันในสัดส่วนที่เหมาะสม รสไม่เค็มจัด ไม่หวานจัดและมีใยอาหารสูง เมื่อบริโภคในปริมาณที่ให้พลังงานเหมาะสม จะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด สำหรับผู้ที่สนใจสามารถโทรสอบถามรายละเอียดได้ที่ มูลนิธิหัวใจฯ 0-2716-6843--จบ--