กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยเมื่อเร็วๆนี้ ว่า สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้รายงานแผนการพัฒนาหอสมุดแห่งชาติดิจิทัลในภาพลักษณ์ใหม่ โดยมุ่งหวังให้หอสมุดแห่งชาติรักษามรดกภูมิปัญญาของชาติให้มีชีวิตและสืบทอดต่อไปด้วยความเจริญตามยุคสมัย ทุกคนในชาติจะมีโอกาสเข้าถึงสารสนเทศอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งได้มีการวางแผนบริหารจัดการใน 3 มิติ คือ 1.แผนพัฒนาพื้นที่ โดยการออกแบบจัดสรรการใช้พื้นที่ใหม่ให้มีความเหมาะสมโดยยึดผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ มีระบบรักษาความปลอดภัย ป้องกันหนังสือสูญหาย ระบบกล้องวงจรปิด และระบบดับเพลิงอัตโนมัติ ซึ่งการปรับใช้พื้นที่จะเป็นแบบ One Building - One Library เพื่อปรับภาพลักษณ์ให้เสมือนผู้ใช้บริการเดินอยู่ในศูนย์การค้า สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย โดยแบ่งพื้นที่เป็นโซน ได้แก่ โซน Inspiration and QR code zone ซึ่งจะเป็นพื้นที่บริการด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ และบรรยากาศแบบสบายๆ ให้บริการหนังสือพิมพ์และวารสารฉบับใหม่ โซน National Public I Library บริการหนังสือใหม่ทั่วไป โซน Academic Library บริการวิทยานิพนธ์และงานวิจัย โซน National Research Library บริการหนังสือโบราณหนังสือ หายาก และโซน Store Room ห้องเก็บหนังสือแบบชั้นปิดและหนังสือจอง ที่เปิดให้ขอใช้หนังสือล่วงหน้าได้ คาดว่าการพัฒนาพื้นที่ การสร้างภาพลักษณ์ของอาคารสถานที่จะเสร็จสมบูรณ์ภายในปลายปี 2559 นี้
นายวีระ กล่าวต่อว่า 2.แผนพัฒนาบริการ โดยการพัฒนาหอสมุดแห่งชาติให้เป็นแหล่งรวบรวมและบริการวิทยานิพนธ์ และงานวิจัยของชาติที่ทันสมัยครบวงจร โดยเชื่อมโยงข้อมูลบรรณานุกรมหอสมุดแห่งชาติ และให้บริการห้องสมุดดิจิทัลของหอสมุดแห่งชาติส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นระบบเดียวกัน นอกจากนี้ ยังให้บริการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งอื่นทั้งในและต่างประเทศผ่านหน้าจอเดียว หรือ Single Search เพื่อการสืบค้นในรูปแบบดิจิทัลที่สะดวก รวดเร็ว ทุกเวลา และทุกสถานที่ผ่านทางออนไลน์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เบื้องต้นได้วางแผนจัดพื้นที่ Inspiration and QR code zone ด้วยจุดบริการแบบ wall information ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลภายในหอสมุดแห่งชาติผ่านจอสัมผัสและอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้วย QR code ผ่านสมาร์ทโฟน โน๊ตบุ๊ค หรือแท็บเลต และสามารถดาวน์โหลดหนังสือของหอสมุดและพันธมิตรไปเป็นห้องสมุดส่วนตัวได้ D-Library (Digital Library) หรือห้องสมุดดิจิตอล ซึ่งสามารถอ่านข้อมูลดิจิตอลเป็นหมวดหมู่ที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งกำหนดไว้ว่าปี 2560 จะมีข้อมูลมากที่สุดในประเทศ และจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์แบบ QR code ที่สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ทันที นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาบุคลากร เพื่อสร้างบรรณารักษ์รองรับหอสมุดแห่งชาติยุค 3G ซึ่งจะพัฒนาศักยภาพด้านการบริการให้บรรณารักษ์เก่งทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศ และภาษาต่างประเทศอีก1ภาษา เพื่อพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และพัฒนาทักษะทางวิชาชีพให้ทันกับความรู้ใหม่ๆ และมาตรฐานกฎเกณฑ์ทางวิชาชีพ ที่รองรับการเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงพัฒนาภาษาอังกฤษให้พร้อมกับการเข้าสู่การประชุมผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติในระดับภูมิภาค หรือนานาชาติต่อไป