กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ เตรียมพร้อมลงนาม MOU ลุยแผนปฏิบัติงานได้ทันที ด้านความก้าวหน้าเกษตรแปลงใหญ่ เตรียมดำเนินการเพิ่มพื้นที่เป้าหมาย หวังช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมาตรฐานและมูลค่าสินค้าตามความต้องการของตลาด สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้น
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง การดำเนินงานของคณะทำงานด้านการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งเป็นคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายคือ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคเกษตร และนอกภาคเกษตร พัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer และ SME เกษตร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตร โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานย่อย 5 กลุ่ม ได้แก่ พืช สัตว์บกเล็ก (ไก่และหมู) สัตว์บกใหญ่ (โคเนื้อและโคนม) สัตว์น้ำ และพืชเสริมรายได้ โดยขณะนี้มีแผนการดำเนินงานทั้งระยะ 6 เดือน (Quick win) ตั้งแต่เดือนเมษายน - กันยายน 2559 และแผนงานระยะปานกลาง – ยาว (1 ปีขึ้นไป) ซึ่งการดำเนินการในส่วนของภาครัฐ จะดำเนินการพัฒนาสหกรณ์โดยการคัดกรองสหกรณ์ที่มีศักยภาพเพื่อ "รวมกลุ่มผลิต รวมกลุ่มซื้อ รวมกลุ่มขาย" ในการทำเกษตรแปลงใหญ่ 10 กลุ่มสินค้า ได้แก่ 1) อ้อย จ.สุโขทัย และอำนาจเจริญ 2) ผักผลไม้ จ.พิษณุโลก น่าน ตาก กำแพงเพชร พังงา และสกลนคร 3) ข้าว จ.สุพรรณบุรี และ จ.พะเยา 4) มันสำปะหลัง จ.นครราชสีมา 5) ผัก จ.นครปฐม เพชรบุรี และราชบุรี 6) โคเนื้อโคนม จ.นครราชสีมา 7) ทุเรียน จ.จันทบุรี 8) สับปะรด จ.ประจวบคีรีขันธ์ 9) สัตว์น้ำ (กุ้ง) จ.ตรัง จันทบุรี ตราด และนครศรีธรรมราช และ 10) สัตว์บกเล็ก อยู่ระหว่างรอระบุพื้นที่ต่อไป
สำหรับภาคเอกชน ร่วมกับภาคราชการและสถาบันวิชาการ จะดำเนินการพัฒนาสหกรณ์ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการฝึกอบรมด้านการจัดการบัญชี ส่วนการทำเกษตรแปลงใหญ่จะดำเนินการคัดเลือกแปลงเพื่อพัฒนาทั้ง "ห่วงโซ่มูลค่า" โดยให้ความรู้การผลิตการจัดการ และการหาตลาดรับซื้อ ฝึกอบรมและสอนงานในเรื่องระบบมาตรฐาน GAP
อย่างไรก็ตาม จะมีการจัดทำบันทึกความร่วมมือกัน (MOU) ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธนาคารและสถาบันวิชาการ และภาคประชาชน ในเร็ว ๆ นี้ โดยประกอบไปด้วย 5 เรื่องหลัก คือ 1) การพัฒนาสหกรณ์การเกษตรต้นแบบ 2) การส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ 3) การส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรสร้างรายได้เร็ว 4) การทำวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร และ 5) การนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาพัฒนา Application เพื่อการเกษตรและทะเบียนเกษตรกร
ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะร่วมแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกร ภาคเอกชน และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยให้ความสำคัญในการดำเนินงานผ่านศูนย์เรียนรู้ฯ และการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่
ด้านนายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย (ณ วันที่ 2 มีนาคม 2559) รวม 76 จังหวัด รวม 268 แปลง จำนวน 31 สินค้า พื้นที่ 665,294.19 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วม 29,665 ราย ซึ่งขณะนี้ ได้มีการบูรณาการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนตามแนวทางประชารัฐแล้ว 45 จังหวัด โดยจังหวัดได้แจ้งความประสงค์ต้องการสินเชื่อแล้ว 40 จังหวัด มีการถ่ายทอดความรู้ทางการเกษตรให้แก่เกษตรกร 3,011 ราย และอบรมเกษตรกรให้ทำบัญชีครัวเรือน เพื่อรู้รายรับ-รายจ่าย ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อร่วมกันผลิต ร่วมจัดหาปัจจัยการผลิต ร่วมตลาด โดยได้มีการสำรวจความต้องการของตลาดและมีการเชื่อมโยงตลาดแล้ว 14 จังหวัด
สำหรับระยะต่อไป กระทรวงเกษตรฯ มีแผนที่จะดำเนินการเพื่อเพิ่มพื้นที่เป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งการดำเนินงานต่าง ๆ จากการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรฯ เชื่อว่าจะช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดให้มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดตั้งธนาคารปุ๋ย การสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร การปรับปรุงบำรุงดิน การพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นาเพื่อการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ อันจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรลดลง ผลผลิตมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ มีตลาดรองรับสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงเกษตรฯ มีแผนการที่จะ Kick Off การดำเนินงานแปลงใหญ่ตามแนวทางประชารัฐ ในเดือนพฤษภาคมนี้