กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
การพัฒนาพระราชวังจันทน์ก้าวหน้าไปอีกขั้น สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินนำรูปลักษณ์สัณฐานพระที่นั่งพระราชวังจันทน์ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชรูปแบบสองมิติและสามมิติ ประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีเสมือนผสมจริง ฝีมือนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นแอปพลิเคชันจำลองพระราชวังจันทน์ในมุมมองต่าง ๆ บนสมาร์ทโฟน ภายใต้นโยบายของศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน พัฒนา ต่อยอดองค์ความรู้เกี่ยวกับพระราชวังจันทน์ สถานที่พระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งด้านสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และเทคโนโลยี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า "สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินเป็นหน่วยงานที่ดำเนินภารกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา ๒ – ๓ ปีที่ผ่านมาสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินเป็นหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการพลิกฟื้นพระราชวังจันทน์ โดยการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ พัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การบรรยาย อบรม สัมมนา วิจัย การออกแบบรูปลักษณ์สัณฐานพระที่นั่ง การจัดทำแผนที่ภูมิทัศน์วัฒนธรรมพระราชวังจันทน์เพื่อการจัดการใช้ที่ดินราชพัสดุเมืองเก่าพิษณุโลก เป็นคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาและอนุรักษ์ และล่าสุดสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จัดทำแอปพลิเคชันจำลองพระราชวังจันทน์ด้วยกล้องมือถือขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานให้สามารถเห็นถึงลักษณะของพระที่นั่งพระราชวังจันทน์ในอดีต โดยนำรูปลักษณ์สัณฐานพระที่นั่งพระราชวังจันทน์ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชรูปแบบสองมิติและสามมิติ ซึ่งเป็นผลการวิจัยของสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินร่วมกับนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร คือ นายกานต์ พจน์ประสาท และนายยงยศ ชูชีพ พัฒนาเป็นแอพลิเคชันโดยการจำลองเฉพาะส่วนพระที่นั่งพระราชวังจันทน์ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยุคสมัยที่สอง ฝีมือของนายนรินทร บุญแร่ และนายธีรวัฒน์ หินแก้ว นิสิตสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร"
นายนรินทร บุญแร่ นิสิตหนึ่งในเจ้าของผลงานการพัฒนาแอปพลิเคชั่น เปิดเผยว่า "งานวิจัยแอปพลิเคชันจำลองพระราชวังจันทน์ด้วยกล้องมือถือนี้ มีรองศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล มุณีสว่าง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ดำเนินการโดยนำรูปลักษณ์สัณฐานพระที่นั่งพระราชวังจันทน์ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชรูปแบบสองมิติและสามมิติ จากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีผสมเสมือนจริง (Augmented Reality) บนสมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ เมื่อเปิดแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ ระบบจะเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต จากนั้นระบบจะทำการ Map โมเดล ๓ มิติ เข้ากับ GPS ในที่ตั้งจริงของพระราชวังจันทน์ เมื่อถ่ายภาพก็จะปรากฏพระที่นั่งพระราชวังจันทน์ในมุมมองต่าง ๆ โดยแอปพลิเคชันจำลองพระราชวังจันทน์ด้วยกล้องมือถือกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา จะเสร็จสมบูรณ์ประมาณเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙ ซึ่งแอปพลิเคชันนี้จะเป็นต้นแบบสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโบราณสถานอื่น ๆ ได้"
แอปพลิเคชันจำลองพระราชวังจันทน์ด้วยกล้องมือถือนี้นับเป็นความสำเร็จของมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินและคณะวิศวกรรมศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นนวัตกรรมต้นแบบอันเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการศึกษา นักท่องเที่ยว ตลอดจนการบูรณะ พัฒนา เนื่องจากสามารถเก็บรักษาได้เป็นเวลานาน และยากต่อการชำรุดเสียหาย
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร โทรศัพท์ ๐ ๕๕๙๖ ๑๑๔๓