กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์กล่าวว่าการที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด หรือ JasMobile ไม่สามารถเข้ามาเป็นผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายที่สี่ของไทย ไม่น่าจะทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมลดลงอย่างมากในปี 2559 ผู้ประกอบการรายเดิมสามรายใหญ่น่าจะยังคงใช้กลยุทธ์ในการแข่งขันที่รุนแรง เพื่อเพิ่มหรือปกป้องส่วนแบ่งทางการตลาดของตัวเอง
ฟิทช์ยังคงมีมุมมองในแง่ลบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยในปี 2559 เนื่องจากฟิทช์คาดว่าฐานะการเงินของผู้ประกอบการจะอ่อนแอลง จากการแข่งขันที่สูงขึ้น อัตราการเติบโตของรายได้ที่อยู่ในระดับต่ำ และเงินลงทุนที่สูงขึ้นสำหรับการขยายเครือข่ายและลงทุนในคลื่นความถี่
อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยจะยังคงเป็นตลาดที่มีผู้ประกอบการสามรายหลักในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า หลังจากที่ JasMobile ไม่สามารถนำเงินงวดแรกและหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร มายื่นเพื่อขอออกใบอนุญาตสำหรับคลื่นความถี่ 900MHz ก่อนกำหนดเวลาในวันที่ 21 มีนาคม 2559
ฟิทช์คาดว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยในปี 2559 จะมีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการจะแข่งขันด้านราคาค่าใช้บริการและส่วนลดค่าเครื่องที่มากขึ้น ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ True Mobile ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับที่สามมีฐานนะการเงินและสถานะทางการตลาดที่ดีขึ้น และมีเป้าหมายจะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่อีกสองราย ซึ่งได้แก่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS (BBB+/AA+(tha)/Stable) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชัน จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC (BBB/AA(tha)/Stable) มีเป้าหมายที่จะรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของตัวเองเอาไว้
การคาดการณ์ของ AIS และ DTAC ซึ่งมีส่วนแบ่งจากรายได้รวมประมาณ 80% ของทั้งอุตสาหกรรม ต่อฐานะทางการเงินที่อาจปรับตัวแย่ลง แสดงให้เห็นว่าธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังคงเผชิญกับความท้าทาย โดย AIS ได้ปรับลดประมาณการณ์อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ในปี 2559 เพื่อสะท้อนถึงจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการที่ AIS ต้องหยุดการให้บริการเครือข่าย 2G บนคลื่นความถี่ 900MHz เนื่องจากบริษัทไม่สามารถชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ในเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมาได้ โดย AIS ต้องเสนอส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์ เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้บริการที่ยังใช้โทรศัพท์ 2G ย้ายไปใช้บริการเครือข่าย 3G ก่อนที่จะหยุดการให้บริการเครือข่าย 2G ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 เมษายน 2559 บริษัทคาดว่า EBITDA Margin จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 37%-38% ในปี 2559 จาก 45.6% ในปี 2558 ในขณะที่ DTAC คาดว่า EBITDA Margin จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 27%-30% ในปี 2559 เมื่อเทียบกับ 31.8% ในปี 2558 เพื่อสะท้อนถึงกิจกรรมทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทมีเป้าหมายในการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทกลับคืนมา
ฟิทช์ยังคงคาดว่าผู้ประกอบการรายใหญ่สามรายเดิมจะยังคงมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในการขยายเครือข่าย 3G และ 4G ในปีนี้ โดยมีการลงทุน (ไม่รวมค่าคลื่นความถี่) รวมกันประมาณ 8.0 หมื่นล้านบาท (2558: 6.5 หมื่นล้านบาท, 2555-2557: 2.7-6.1 หมื่นล้านบาท) มีความเป็นไปได้ที่จะมีการนำคลื่นความถี่ 900MHz ออกมาประมูลอีกครั้งซึ่งอาจทำให้การลงทุนของอุตสาหรรมเพิ่มขึ้นอีกในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า ดังนั้นกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ของผู้ประกอบการส่วนใหญ่น่าจะติดลบ และอัตราส่วนหนี้สินต่อกระแสเงินสดจากการดำนินงาน (Financial Leverage) น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงสองปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตามแนวโน้มอันดับเครดิตของ AIS และ DTAC ยังคงมีเสถียรภาพ สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่าสถานะทางการตลาดของผู้ประกอบการทั้งสองรายจะยังคงแข็งแกร่งในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า และบริษัทมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงข้างต้นได้ อย่างไรก็ตามความแข็งแกร่งทางการเงินของ AIS และ DTAC น่าจะปรับตัวลดลงในช่วงสองปีข้างหน้า ทำให้ความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตปัจจุบันของบริษัท ปรับตัวลดลง