กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--จุฬาฯ
จุฬาฯ เปิดบริการบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้าทุกวันพุธใช้ระยะเวลารักษา ๔ เดือน แพทย์จุฬาฯ ชี้ยาบ้ามีผลกระทบต่อสมองในระยะยาวทำให้เกิดปัญหาเรื่องความจำและมีแนวโน้มเกิดอาการทางจิตเฉียบพลัน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดบริการ “โครงการ บำบัดรักษาผู้ป่วยติดสารเสพย์ติด กลุ่มยาบ้า” ณ ตึก ภปร. ชั้น ๑๒ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทุกวันพุธ เวลา ๑๕.๐๐—๑๖.๓๐ น. และวันเสาร์ เวลา ๐๘.๓๐—๑๐.๐๐ น. โดยเน้นการให้กำลังใจ การป้องกันไม่ให้กลับไปใช้ใหม่ รวมทั้งให้ความรู้แก่ครอบครัวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกหลาน ใช้ระยะเวลารักษาประมาณ ๔ เดือน (๑๖ สัปดาห์) น.พ.เดชา ลลิตอนันต์พงศ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะหัวหน้า โครงการ “โครงการบำบัดรักษาผู้ป่วยติดสารเสพย์ติด กลุ่มยาบ้า” กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหายาบ้าได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น มีแนวโน้มที่พบมากขึ้น ในกลุ่มนักเรียนมัธยมต้น ยาบ้านั้น ติดง่าย เลิกยาก เพราะผู้ที่เสพคิดว่าตนเองไม่ติด ในวงการแพทย์ถือว่าผู้ที่ติดสารเสพย์ติดเป็นผู้ป่วยไม่ใช่ผู้ที่มีบุคลิกภาพไม่ดี แต่เป็นผู้ป่วยที่มีจิตใจอ่อนไหว เปราะบาง จึงมีแนวโน้มที่จะติดยาเสพย์ติดได้ง่าย เมื่อติดยาแล้ว จิตใจก็ไม่เข้มแข็งพอ ที่จะเลิกได้เอง และยาบ้า มีอาการถอนยาที่น้อยมาก เพียงทำให้รู้สึกง่วงซึม แต่ผลในระยะยาวของยาบ้านั้นจะไปทำลายสมอง ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความจำมีแนวโน้มเกิดอาการทางจิตเฉียบพลัน ตามข่าวที่เห็นในหนังสือพิมพ์ ยาบ้าเป็นยาเสพย์ติดร้ายแรงสามารถรักษาได้ วิธีการรักษาที่ให้ได้ผลเป็นการใช้หลักการรักษาแบบกลุ่มบำบัด โดยใช้อิทธิพลของกลุ่มที่มีความเอื้ออาทร เห็นอกเห็นใจกัน ช่วยสร้างกำลังใจ โน้มน้าวใจให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้เลิกติดยาบ้าอย่างเด็ดขาด ผู้ที่สนใจเข้ารับการรักษาใน “โครงการบำบัดรักษาผู้ป่วยติดสารเสพย์ติด กลุ่มยาบ้า” ติดต่อในวัน-เวลาราชการ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แผนกผู้ป่วยนอกจิตเวช ตึก ภปร. ชั้น ๑๒โทรศัพท์ ๐—๒๒๕๖—๕๑๘๐-๒ ธุรการจิตเวช ตึกธนาคารกรุงเทพ ชั้น ๑ โทรศัพท์ ๐-๒๒๕๖-๔๒๙๘ ๐-๒๒๕๖—๔๔๔๕.--จบ--
-สส-