กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รัฐมนตรีเกษตรฯ เยือนจอร์แดนร่วมลงนามเอ็มโอยูหนุนเทคโนโลยีฝนหลวง สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตถ่ายทอดเทคโนโลยีฝนหลวงให้แก่จอร์แดน เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำแก่ชาวจอร์แดน เตรียมเริ่มทดลองปฏิบัติการฝนหลวงในจอร์แดนช่วงปลายเดือนมี.ค.นี้
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลไทยเยือนกรุงอัมมาน ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน ระหว่างวันที่ 22 – 25 มีนาคม 2559 อย่างเป็นทางการเพื่อร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดนว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ ภายใต้โครงการดัดแปรสภาพอากาศโดยเทคโนโลยีฝนหลวง กับนายอาร์เหม็ด มัฟเล่ อาเคฟ อัล ซูบี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรจอร์แดน ว่า การลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างสองประเทศในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐบาลจอร์แดนได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำฝนหลวงที่มาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้นำไปแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนชาวจอร์แดนจากปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย – จอร์แดน ด้วยเช่นกัน
สำหรับโครงการความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการ การดัดแปรสภาพอากาศโดยเทคโนโลยีฝนหลวงนี้ ดำเนินภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งหลังจากการลงนามแล้ว ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทยจะให้คำปรึกษาแนะนำตั้งแต่ขั้นพื้นฐานของการเริ่มกระบวนการ เงื่อนไขในการตัดสินใจแต่ละขั้นตอน จนคณะผู้แทนการทำฝนหลวงฝ่ายจอร์แดนสามารถปฏิบัติการทำฝนหลวงเองได้ พร้อมทั้งมีหน่วยงานรองรับการทำงานด้วยตนเอง ซึ่งเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ คือการถ่ายทอดความรู้ให้ต่างประเทศ จนสามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้ จะมีผลบังคับหลังจากการลงนามเป็นระยะเวลา 3 ปี และสามารถดำเนินการต่อได้หากมีความจำเป็น และทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน
ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายจะมีการประชุมเพื่อจัดการหารือการจัดทำแผนงานโครงการฯ เพื่อกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย และกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำเนินโครงการตามบันทึกความเข้าใจฯ ในช่วงระยะเวลา 3 ปี ได้แก่ การอำนวยความสะดวก การสนับสนุน และการกำหนดแผนการดำเนินโครงการฯ การพัฒนาบุคลากรด้านฝนหลวงให้แก่จอร์แดน การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับปฏิบัติการฝนหลวง และการประชุมคณะกรรมการบริหารงานโครงการ เพื่อทบทวน ติดตาม ประเมินผลและรายงานผลการดำเนินโครงการฯ ต่อไป นอกจากนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญการทำฝนหลวงฝ่ายไทยจะร่วมสาธิตการปฏิบัติการฝนหลวง กับคณะผู้แทนด้านการทำฝนฝ่ายจอร์แดน ในพื้นที่เป้าหมาย คือ บริเวณเขื่อนคิงทาลาล ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน ในระหว่างวันที่ 26 – 28 มีนาคมนี้ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นในการนำเทคโนโลยีฝนหลวงมาประยุกต์ใช้ในประเทศจอร์แดนอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับความร่วมมือทางวิชาการด้านฝนหลวงระหว่างไทยกับจอร์แดน เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2551 โดยกระทรวงน้ำและชลประทานของจอร์แดน ได้แจ้งความจำนงขอใช้กระบวนการทำฝนหลวง ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้มีหนังสือถึงราชเลขาธิการเพื่อนำความกราบบังคมทูลฝ่าละอองธุลีพระบาทขอพระบรมราชานุญาตในการถ่ายทอดเทคโนโลยีฝนหลวง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2552 เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับภาวะขาดแคลนฝนในจอร์แดน ซึ่งพบว่าพื้นที่กว่า 2 ใน 3 เป็นทะเลทราย ไม่มีแหล่งน้ำจืดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และปริมาณฝนที่ตกลงมาสามารถใช้การได้เพียง 8% เท่านั้น
"นับเป็นความภาคภูมิใจของพสกนิกรชาวไทยที่เทคโนโลยีการทำฝนหลวง ซึ่งเกิดจากพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ของไทย ที่ทรงใช้เวลาในการคิดค้นและปรับปรุงเทคนิคการทำฝนหลวงมาอย่างยาวนาน เป็นระยะเวลากว่า 44 ปี มีส่วนช่วยนำไปแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และขาดแคลนน้ำในประเทศต่างๆ โดยปัจจุบันทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้สิทธิบัตรฝนหลวงถ่ายทอดวิทยาการทำฝนหลวงทั้งหมด 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แทนซาเนีย โอมาน และจอร์แดน"พลเอก ฉัตรชัย กล่าว