กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--กรมประมง
กรมประมงเตรียมปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามันระหว่างวันที่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. นี้ ครอบคลุมพื้นที่4จังหวัดได้แก่ จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง เพื่อเปิดโอกาสให้สัตว์น้ำในฤดูปลาที่มีไข่และวางไข่เลี้ยงลูกเพื่อเพิ่มประชากรสัตว์น้ำ โดยห้ามเคื่องมือทำการประมงบางชนิดทำการประมงในระหว่างนี้ หากพบผู้ใดฝ่าฝืนเข้าจับกุมทันทีและดำเนินการตามกฎหมาย พ.ร.ก.ประมงฉบับใหม่ พร้อมบูรณาการกับศูนย์ประสานการปฏิบัติงานในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล) และเครือข่าย ฯลฯ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการกระทำผิดในครั้งนี้ตลอด 24 ชั่วโมง...เผยผลปิดอ่าวปีก่อนพบสัตว์น้ำเพิ่มถึง 2.61 เท่า ชาวประมงยิ้มรับพอใจมาตรการปิดอ่าว
ดร. วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงเตรียมประกาศปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2559 ระหว่างวันที่1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2559 รวม 3 เดือน ในพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่และตรัง ตามมาตรการการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลาที่มีไข่ และวางไข่เลี้ยงลูก เพื่อเปิดโอกาสให้สัตว์น้ำได้วางไข่ขยายพันธุ์และเจริญเติบโต สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะ "ปลาทู" ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่สำคัญทางเศรษฐกิจของไทยให้เป็นแหล่งอาหารยั่งยืน เนื่องจากสัตว์น้ำในแหล่งตามธรรมชาติของประเทศมีแนวโน้มลดลงเพราะเกิดจากการทำประมงที่มุ่งมั่นหาผลประโยชน์เฉพาะหน้า ขาดความยั้งคิด และการลักลอบทำการประมงในเขตหวงห้ามในพื้นที่ต่างๆ กรมประมงซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในด้านการฟื้นฟูป้องกันและบริหารจัดการทรัพยากรประมง เพื่อแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรการประมงโดยเฉพาะในฝั่งทะเลอันดามัน จึงมีมาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามันและกำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดทำการประมงในฤดูปลาที่มีไข่ และวางไข่เลี้ยงลูก ครอบคลุมพื้นที่ 4,696 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,935,000 ไร่ใน 4 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามันขึ้นทุกๆปี
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา ผลการสำรวจสภาวะทรัพยากรสัตว์น้ำ (โดยดูจากอัตราการจับสัตว์น้ำจากเรือสำรวจประมง 4) ก่อนมาตรการมีอัตราการจับเฉลี่ย 276.76 กก./ชม. และระหว่างมาตรการมีอัตราการจับเฉลี่ย722.21 กก./ชม. พบว่ามาตรการปิดอ่าวสามารถเพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำได้สูงถึง 2.61 เท่า ทำให้สัดส่วนของปลาเศรษฐกิจและปลาเศรษฐกิจขนาดเล็กมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2551 มีการกำหนดมาตรการในการควบคุมการทำประมงในฤดูปลาที่มีไข่และวางไข่เลี้ยงลูก (ระยะเวลาห้ามทำการประมง) เพื่อเปิดโอกาสให้สัตว์น้ำได้ขยายพันธุ์ในฤดูปลาที่มีไข่ และวางไข่เลี้ยงลูกพร้อมกับห้ามเครื่องมือทำการประมงบางชนิดทำการประมงในเขตมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำถูกจับก่อนวัยอันควรซึ่งเครื่องมือที่ห้ามทำการประมงมีดังนี้
สำหรับเครื่องมือที่ห้ามทำการประมง ได้แก่
1.อวนลากทุกประเภททุกขนาดที่ใช้ประกอบเรือกล
2. อวนประเภทล้อมจับทุกชนิด
3. อวนติดตาที่มีช่องเล็กกว่า 4.7 เซนติเมตร
เครื่องมือที่ได้รับการยกเว้นให้ทำการประมงได้
1. เครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตักในเวลากลางวันทำการประมงตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพรอาทิตย์ตก
2. เครื่องมืออวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบกับเรือกล (เครื่องมืออวนลากคานถ่างแผ่นตะเฆ่มีคานถ่าง
หรืออวนลากที่ใช้ประกอบเรือกลซึ่งเชือกเส้นใยประดิษฐ์เป็นสายลากอวน เฉพาะในเวลากลางคืนตั้งแต่พระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้น)
3.เครื่องมืออวนโป๊ะ
อธิบดีกรมประมงกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า... สำหรับมาตรการปิดอ่าวในปีนี้มีบทกำหนดโทษที่ค่อนข้างรุนแรงหากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีความผิดทั้งทางอาญาและตามมาตรการทางปกครองตามพ.ร.ก. ประมง พ.ศ.2558 อย่างไรก็ตามการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามันครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายต่างๆ อาทิ เครือข่ายเฝ้าระวังการทำประมง, ศูนย์ประสานการปฏิบัติงานในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล(ศรชล) ฯลฯ ในการลาดตระเวนเพื่อเฝ้าระวังซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) อย่างละเอียดตลอดเวลา สำหรับการอนุรักษ์ทรพยากรสัตว์น้ำถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะวงการประมงไทยในขณะนี้ที่ต้องรีบดำเนินการแก้ไขเร่งด่วน กรมประมงเชื่อว่าหากส่วนที่เกี่ยวข้องรวมถึงชาวประมงร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาได้จริง ประเทศไทยก็จะเป็นประเทศที่สามารถบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน จึงขอความร่วมมือชาวประมงให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดก็เพื่อผลประโยชน์ของชาวประมง และเศรษฐกิจของประเทศชาติที่มั่นคงและยั่งยืนสืบต่อไป โดยพิธีประกาศปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามันประจำปี 2559 จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคมนี้ ณ ศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลฝั่งอันดามัน กระบี่ ตำบลไสไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่