กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ปัจจุบันในหลายประเทศกำลังตื่นตัวและผลักดันการศึกษาในรูปแบบ สะเต็มศึกษา หรือ STEM Education (Science, Technology, Engineering, and Mathematics Education) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ริเริ่มการพัฒนาการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ และแนวทางการพัฒนาของมจธ. ก็สอดคล้องกับคำว่า STEM Education ดังนั้นหากจะกล่าวว่า มจธ. ได้พัฒนา STEM Education ให้เป็นบริบทของมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่แรกเริ่มอยู่แล้ว
รศ.ดร.บัณฑิต ทิพากร รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษา มจธ. กล่าวว่า "พัฒนาการศึกษาของ มจธ. ก้าวเข้ามาสู่ช่วงยุคที่ 3 หรือ KMUTT 3.0 ที่ มจธ. ปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนการสอน จากเดิมซึ่งเน้นการสอนแบบบรรยาย ให้เป็นการสร้างการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยอาจารย์จะเปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้เป็นบทบาทของ "ผู้สร้าง" บรรยากาศและสภาพแวดล้อมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ของนักศึกษาเกิดขึ้น ตามรูปแบบที่สอดคล้องกับการศึกษาในศตวรรษที่ 21
สะเต็มศึกษาของ มจธ. เน้นการทำให้นักศึกษามีสมรรถนะต่างๆ ที่เหมาะกับโลกในปัจจุบันเพราะสะเต็มศึกษาคือทักษะพื้นฐานการเรียนรู้ที่มนุษย์ทุกคนในศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องมี ดังนั้น การเรียนการสอนจึงไม่ได้เน้นที่หลักวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่เน้นการเสริมสร้างให้เกิดสมรรถนะและความสามารถขึ้นที่ตัวผู้เรียน ผ่านการบูรณาการความรู้ข้ามรายวิชา การหลอมรวมระหว่างการเรียนในห้องเรียนเข้ากับชีวิตจริงนักศึกษาต้องสามารถคิดแบบองค์รวม วิเคราะห์ สังเคราะห์และเชื่อมโยงให้เป็น ตั้งแต่อดีต มจธ. เน้นการปลูกฝังทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้ด้วยการคิดและลงมือทำและการสร้างนวัตกรรมสะเต็มศึกษา เป็นแนวคิดการศึกษาที่ไม่ได้สอนให้คิดเป็นเท่านั้น แต่ต้องสามารถนำไปใช้ได้ด้วย"
รศ.ดร.วิวัฒน์ เรืองเลิศปัญญา รองอธิการบดีฝ่ายบุคคล มจธ. และผู้ดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับสะเต็มศึกษาของ มจธ. มาอย่างต่อเนื่อง เสริมว่า "นอกจากรูปแบบการเรียนการสอนแล้ว อีกหนึ่ง ปัจจัยที่สำคัญของสะเต็มศึกษา คือการวัดประเมินผลที่แตกต่างออกไป การวัดประเมินผลจะต้องวัดจากสมรรถนะที่เกิดขึ้นกับตัวนักศึกษา ผลลัพธ์ที่แท้จริงไม่ใช่การที่นักศึกษาเรียนจบไปแล้วจำอะไรได้บ้าง แต่เป็นการที่นักศึกษาเรียนจบออกไปแล้วสามารถทำอะไรได้ เพื่อให้บัณฑิตของ มจธ. เป็นกำลังคนที่สามารถออกไปช่วยพัฒนาประเทศได้จริง โลกปัจจุบันเป็นโลกของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยจึงต้องบ่มเพาะบัณฑิตที่เข้าใจและสามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เรียนมานั้นมาแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างแท้จริงเพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ได้
นอกจากนั้น มจธ. ก็ได้ใช้แนวคิดเดียวกันในการดำเนินโครงการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย อาทิ การทำงานร่วมกับโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนานักเรียนภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร นำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพัฒนาชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามบริบทของพื้นที่ โครงการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน หรือ WiL นักศึกษาจะได้นำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาจริงในโรงงานของภาคอุตสาหกรรม จะแสดงให้เห็นถึงสมรรถนะในการแก้ไขปัญหาของผู้เรียนได้อย่างชัดเจน โครงการทักษะวิศวกรรมเคมีแบบบูรณาการ หรือ C-ChEP และโครงการทักษะวิศวกรรมเยื่อและกระดาษแบบบูรณาการ หรือ C-Paper เพื่อยกระดับพนักงานระดับ ปวส. ในอุตสาหกรรมดังกล่าวมีทักษะความรู้และมาตรฐานทางด้านวิศวกรรม โครงการห้องเรียนวิศว์-วิทย์ ที่มีเป้าหมายการเรียนเพื่อพัฒนานักเรียนระดับมัธยมศึกษาให้เป็นวิศวกร นักวิจัย และนักเทคโนโลยีที่มีทั้งความสามารถทั้งทางวิชาการและลงมือทำผ่านการเชื่อมโยงองค์ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกันได้ การเรียนการสอนแบบ Residential College ของมจธ. ราชบุรี ที่บูรณาการการเรียนการสอนในห้องเรียน การเรียนการสอนนอกห้องเรียน และทักษะชีวิตและสังคมในมหาวิทยาลัยเข้าด้วยกันในการผลิตวิศวกรสายพันธุ์ใหม่
ทั้งนี้สะเต็มศึกษาที่สมบูรณ์แบบต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการคิด มุมมอง วิธีการสอน และวิธีวัดประเมินผลของครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน"