กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--กรมประมง
กรมประมง...เตรียมเดินหน้าโครงการ "ปรับปรุงโครงสร้างระบบการเลี้ยงเพื่อพลิกฟื้นการผลิตกุ้ง และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมการผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยอย่างยั่งยืน"หลัง คชก. เห็นชอบโครงการพร้อมอนุมัติงบประมาณ 92.70 ล้านบาท หวังพลิกโฉมอุตสาหกรรมกุ้งไทย สู้วิกฤตการณ์อีเอ็มเอส เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดโลก
ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่าแม้ว่าขณะนี้สถานการณ์โรคตายด่วน(อีเอ็มเอส) เริ่มส่งสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้น โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลผลิตกระเตื้องขึ้นมาจากการที่เกษตรกรมีการปรับระบบการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีขึ้น เนื่องจากสาเหตุหลักของการเกิดอีเอ็มเอสเป็นเชื้อแบคทีเรียกลุ่มวิบริโอที่เติบโตและขยายพันธุ์ด้วยการใช้ของเสียที่สะสมอยู่ในบ่อเลี้ยงกุ้ง โดยแนวทางในการแก้ไขปัญหานั้นจะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างบ่อเลี้ยงกุ้งให้สามารถกำจัดของเสียได้ด้วยการดูดสารอินทรีย์ ของเสีย และกุ้งที่อ่อนแอออกจากบริเวณที่สะสมกลางบ่อเพื่อนำมาจัดการบำบัดข้างนอกบ่อเลี้ยง และนำน้ำที่กำจัดของเสียแล้วหมุนกลับไปใช้ในการเลี้ยงใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้บ่อกุ้งมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น เชื้อโรคไม่สามารถขยายตัวได้ กุ้งมีความแข็งแรงสุขภาพดี และอัตรารอดของกุ้งที่เลี้ยง รวมถึงผลผลิตก็จะเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งต้นทุนการผลิตกุ้งในฟาร์มยังลดต่ำลง ดีกว่าระบบดั้งเดิมที่เคยใช้ในอดีต
อย่างไรก็ตาม การจัดการเลี้ยงกุ้งในรูปแบบใหม่นี้เกษตรกรจำเป็นต้องลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างฟาร์มให้เป็นไปตามระบบดังกล่าว กรมประมงจึงได้จัดทำโครงการ "ปรับปรุงโครงสร้างระบบการเลี้ยงเพื่อพลิกฟื้นการผลิตกุ้ง และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมการผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยอย่างยั่งยืน" ขึ้น เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) พิจารณา ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ที่ประชุม คชก. ครั้งที่ 1/2559 ได้มีมติเห็นชอบโครงการฯ ดังกล่าว พร้อมอนุมัติวงเงิน 92.70 ล้านบาท เพื่อลดภาระดอกเบี้ยแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล โดยแบ่งเป็นวงเงิน
ชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่กู้ยืมเงินไปปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานฟาร์มเลี้ยงให้เข้าสู่ระบบการจัดการฟาร์มที่มีระบบบำบัดน้ำหมุนเวียนขนาดเล็ก จำนวน 90 ล้านบาท ผ่านสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) และธนาคารของรัฐ ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี จำนวนไม่เกิน 1,000 ราย รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบริหารโครงการฯ จำนวน 2.70 ล้านบาททั้งนี้ เพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานฟาร์มให้ได้มาตรฐานสากลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้ได้ผลผลิตกุ้งมีปริมาณเพิ่มขึ้น สร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดต่างประเทศหันกลับมาสั่งซื้อผลิตภัณฑ์กุ้งจากประเทศไทยเช่นเดิมโดยคาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประมาณ 1,000 ราย สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตคิดเป็นพื้นที่กว่า 40,000 ไร่
ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าวสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล กรมประมง โทร.0 2562 0552 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป