กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--บริติช เคานซิล ประเทศไทย
บริติช เคานซิล ประเทศไทย องค์กรส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมและการศึกษาแห่ง สหราชอาณาจักร โดยแผนกโครงการการศึกษา ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จัดโครงการสนับสนุนหลักสูตรการศึกษาร่วมระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร (UK-Thailand Transnational Education Development )
โดยภายใต้โครงการมีการจัดสัมมนา การสร้างเครือข่ายพันธมิตรด้วยหลักสูตรการศึกษาร่วมระดับอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยและสหราอาณาจักรในการพัฒนาหลักสูตรร่วม โดยมี 8 มหาวิทยาลัยระดับประเทศเข้าร่วมหารือ ณ โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ ในวันที่ 21-22 มีนาคม 2559
งานสัมมนาในครั้งนี้เป็นกิจกรรมปิดท้ายโครงการสนับสนุนหลักสูตรการศึกษาร่วมระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร (UK-Thailand Transnational Education Development ) ในระยะที่ 1 โดยจะเน้นการแบ่งปันประสบการณ์ การเรียนรู้จากกรณีศึกษาของสหราชอาณาจักรและเอเชียตะวันออกในเรื่องหลักสูตรการศึกษาร่วม รวมทั้งพิธีมอบทุนสำหรับมหาวิทยาลัยที่ต้องการจัดตั้งหลักสูตรในระยะเริ่มต้น โดยได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร ได้แก่ ศาสตราจารย์ Tony Downes จาก University of Reading, Malaysia Campus และศาสตราจารย์ Troy Heffernan ผู้อำนวยการสถาบันนานาชาติ จาก Plymouth University และวิทยากรจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาหลักสูตรร่วม
งานสัมมนานี้จะเป็นการต่อยอดการพัฒนารูปแบบความร่วมมือในหลักสูตรการศึกษาร่วมของไทยและ
สหราชอาณาจักร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดหลักสูตรร่วมทั้งจากสหราชอาณาจักรและในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2558 ได้มีผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการอุดมศึกษาในประเทศไทยและสหราชอาณาจักรเข้าร่วมการประชุม UK President Forum แล้วกว่า 70 คน และพัฒนาแผนการจัดหลักสูตรร่วมสำเร็จแล้ว 9 หลักสูตร
นายแอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า "โครงการสนับสนุนหลักสูตรการศึกษาร่วมระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในระดับอุดมศึกษา ระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร โดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรร่วม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษา และเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักศึกษา คณาจารย์ และสถาบันการศึกษา ที่จะได้เปิดมุมมองการเรียนรู้ในระดับนานาชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโลกในยุคแห่งการสื่อสารไร้พรมแดนเช่นนี้"
นอกจากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาหลักสูตรร่วม ในการจัดสัมมนาครั้งนี้ยังมีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีการจับคู่ระหว่างมหาวิทยาลัยในไทย 8 แห่ง กับมหาวิทยาลัยชั้นนำจากสหราชอาณาจักร เพื่อพัฒนา 9 หลักสูตรร่วม พร้อมมอบทุนตั้งต้นสำหรับการพัฒนาหลักสูตรจำนวน 72,000 ปอนด์ หรือประมาณ 3,500,000 บาท เพื่อให้เกิดการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
1. หลักสูตรร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ University of Reading
2. หลักสูตรร่วมระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ University of Liverpool
3. หลักสูตรร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ University of Westminster
4. หลักสูตรร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี กับ University of Reading
5. หลักสูตรร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล กับ University of Sussex
6. หลักสูตรร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล กับ University of Strathclyde
7. หลักสูตรร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับ University of Westminster
8. หลักสูตรร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กับ University of Birminham
9. หลักสูตรร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ Queen Mary University of London
ทั้งนี้สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในผู้นำในการดำเนินการหลักสูตรร่วม (Transnational Education) ทั่วโลก โดยมีนักเรียนเข้าร่วมหลักสูตรกว่า 360,000 คน และมีมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรกว่า
80 มหาวิทยาลัยที่มีการเปิดหลักสูตรร่วม จากสถิติดังกล่าวสามารถประมาณการณ์ได้ว่าหลักสูตรการศึกษาร่วมจากสหราชอาณาจักรมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก
งานวิจัย "The Shape of Things to Come" โดยบริติช เคานซิลในการสัมมนาระดับนานาชาติ Going Global 2013 ได้มีการกล่าวถึงกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพในการเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการหลักสูตรร่วม โดยประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มปานกลาง
จากข้อมูลดังกล่าว บริติช เคานซิลประเทศไทยตระหนักถึงศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยในการพัฒนาไปสู่กลุ่มประเทศลำดับที่ 1 และ 2 และการเปิดหลักสูตรร่วมระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทยเป็นการเพิ่มคุณค่าทางการศึกษาและเป็นประตูสู่การแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญจากทั้งสองประเทศอย่างแท้จริง
บริติช เคานซิล จึงได้จัดโครงการส่งเสริมความเป็นนานาชาติในสถาบันอุดมศึกษาไทยผ่านหลักสูตรการศึกษาร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในสหราชอาณาจักร เพื่อพัฒนาหลักสูตรร่วมระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนการสร้างความเข้าใจเรื่องหลักสูตรร่วมต่อสถาบันการศึกษาอื่นๆรวมถึงสาธารณชน นำไปสู่การพัฒนาด้านการศึกษาและสถานภาพทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศต่อไป โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา แห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยทั้ง 8 แห่ง