กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--มทร.ธัญบุรี
ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน กำลังตื่นตัวในมาตรการรับวิกฤตภัยแล้ง ปี 2559 ถือว่าเป็นภัยแล้งที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยทางรัฐบาลได้กำหนดปัญหาภัยแล้งเป็นวาระแห่งชาติและออกมาตรการควบคุมการใช้น้ำ เช่นเดียวกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ไม่นิ่งนอนใจ ขานรับนโยบายรัฐ และได้กำหนดมาตรการการใช้น้ำในมหาวิทยาลัย โดยทางนักศึกษาของทาง มทร.ธัญบุรี มีวิธีเตรียมตัวและปฏิบัติตามมาตรการกันอย่างไร และรู้สึกอย่างไรกับปัญหาภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้น
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า ตามที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี มีนโยบายในการบริหารน้ำและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบการที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตด้านน้ำเนื่องจากมีปริมาณฝนตกน้อยจึงทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ภัยแล้งระดับชาติ มหาวิทยาลัยจึงมีมาตรการประหยัดน้ำและลดการใช้น้ำในมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษา บุคลากรตลอดจนหน่วยงานในกำกับมหาวิทยาลัยยึดถือและนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดการลดการใช้น้ำประปาและใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า รวมทั้งตรวจสอบการใช้น้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดการรั่วไหลสูญเปล่า ของทุกภาคส่วนภายในมหาวิทยาลัย จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพ 1. ปิดน้ำทุกครั้งที่ไม่ใช้งาน และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า งดการใช้อย่างฟุ่มเฟือย 2. ดูแลก๊อกน้ำและอุปกรณ์ใช้น้ำทุกชนิดให้ปิดสนิทอยู่เสมอหลังไม่ใช้งาน 3. ตรวจสอบอุปกรณ์ใช้น้ำ ท่อน้ำ อย่างสม่ำเสมอและแจ้งซ่อมแซมทันทีเมื่อชำรุด 4. ใช้น้ำจากคูน้ำ บ่อน้ำธรรมชาติ ในการรดน้ำต้นไม้ 5. ให้ทุกหน่วยงานรณรงค์เรื่องการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อร่วมกันแก้ไขวิกฤตของชาติ 6. กำหนดให้ทุกหน่วยเลือกใช้อุปกรณ์ที่ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อร่วมกันแก้ไขวิกฤตของชาติ 7 ในช่วงของวิกฤตและภัยแล้งให้พิจารณาใช้น้ำเท่าที่จำเป็น
"เต้ย" นายภานุมาส มาดีประเสริฐ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เล่าว่า ปัญหาภัยแล้งส่งผลกับทางบ้านอย่างหนัก เพราะว่าทางบ้านประกอบอาชีพเกษตร ที่จังหวัดสระบุรี น้ำคือสิ่งสำคัญ ในการหล่อเลี้ยงพืช นอกจากนั้นยังต้องใช้อุปโภค บริโภค ดังนั้นทางบ้านมีการจัดการน้ำที่เป็นระบบ ต้องเปลี่ยนจากการปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก มาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และต้องขุดบ่อบาดาลเพื่อนำแหล่งน้ำจากใต้ดินมาใช้ โดยปีนี้เป็นวิกฤตภัยแล้งที่ต้องเตรียมรับมือ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อทางรัฐบาลมีมาตรการในการเตือนประชาชน ควรปฏิบัติตาม คือ สิ่งที่ทำได้คือลดการใช้น้ำให้ได้มากที่สุด ตนเองอยู่ที่หอพักจะพยายามใช้น้ำให้น้อยที่สุด เปลี่ยนจากการอาบน้ำขัน มาอาบน้ำฝักบัวแทน
"ปอย" นางสาวพิรญาณ์ เขียวคำ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร คณะศิลปศาสตร์ เล่าว่า จากการติดตามข่าวสาร ทั่วทุกภาคของประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้ง ชาวนา เกษตรกร ไม่มีน้ำรดต้นไม้ หรือบางจังหวัดทางภาคเหนือต้องทำฝ่ายกักน้ำฝนไว้ใช้ เมื่อได้เห็นพื้นที่ประสบปัญหา ผลกระทบที่ตามมาในสังคมต้องเกิดแน่นอน เช่น ผักมีราคาสูงขึ้น ทางบ้านของตนเองานได้ซื้อถังขนาดใหญ่เพื่อนำมาสำรองน้ำไว้ใช้ เมื่อมามหาวิทยาลัยเวลาเข้าห้องน้ำเห็นก๊อกน้ำเปิดอยู่ตนเองจะปิดเสมอ ซื้อน้ำ 1 ขวด เมื่อทานไม่หมด จะนำติดตัวไปตลอดเวลา ปฏิบัติตามมาตรการการใช้น้ำในมหาวิทยาลัย อย่างน้อยน้ำ 1 หยด มีความสำคัญต่อใครอีกหลายๆ คน ไม่อย่างให้ทุกคนมองว่าไปเรื่องไกลตัว อยู่ในเมืองมีน้ำใช้ตลอดเวลา แต่เมื่อประสบปัญหาจะเข้าใจ
"พล" นายอำพล ภักดีวุฒิ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เล่าว่า เมื่อพูดถึงภัยแล้ง นึกถึงการไม่มีน้ำใช้ ในการทำกิจกรรมต่างๆ จากการสังเกตน้ำประปาที่บ้านจะไหลเบาลง ดังนั้นทางบ้านจึงต้องรองน้ำใส่ถังไว้ใช้ ปัญหาที่บ้านเจอคือ บริเวณบ้านจะปลูกต้นจะเอาน้ำที่เหลือจากการซักผ้ามาใช้รดน้ำต้นไม้ และที่เห็นตอนนี้ตามสื่อคือไฟป่า ดังนั้นชาวบ้านควรระวังไฟป่า รักษาป่าไว้ ถ้ามีป่า จะมีน้ำ ในฐานะของนักศึกษาเมื่อทางมีมาตรการในการใช้น้ำในมหาวิทยาลัย ตนเองจะปฏิบัติตามโดยไม่นิ่งนอนใจ ทางรัฐบาลให้เล่นน้ำสงกรานต์อย่างประหยัด เห็นด้วยกับมาตรการนี้
"แคท" นางสาวนภวรรณ ทั่งรอด นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าว่า ทราบข่าวมาจากสื่อว่าปี 2559 ประเทศไทยอาจแล้งที่สุดในประวัติศาสตร์ ปริมาณน้ำตามเขื่อนต่างๆ ปริมาณลดน้อยลง ซึ่งกลุ่มเกษตรกรเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ต้องใช้น้ำในการทำเกษตร เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นเกษตรกรควรหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ถือว่าปีนี้เป็นปีวิกฤตจริง ภัยแล้งทำให้โลกร้อนขึ้น อุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส อยากให้ทุกคนรักษาสุขภาพ เวลาออกแดดควรมีสิ่งปกปิด และที่สำคัญควรเลือกรับประทานอาหาร ทุกคนควรเตรียมตัวและตั้งสติในการรับมือกับภัยแล้งที่เกิดขึ้น ช่วยกันประหยัดน้ำ ร่วมไปถึงพลังงานต่างๆ ด้วย สำหรับตนเองเตรียมตัวรับมือจะประหยัดน้ำ รู้จักใช้น้ำให้มากขึ้นอย่างเช่นน้ำซาวข้าว เอาไปรดน้ำต้นไม้ต่อได้ถ้าหนูมีเวลาเตรียมตัวมากๆก่อนหน้านี้ในฤดูฝนหนูก็จะรองน้ำเพื่อเก็บไว้ใช้ในเวลาที่มันขาดแคลนหรือจำเป็นมันน่าจะช่วยได้ไม่มากก็น้อยเลย ตนเองจะเริ่มที่ตนเองก่อนอย่างช่วงสงกรานต์ งดเล่นสาดน้ำถ้ากำลังเล่นสนุกคนในจังหวัดอื่นอาจกำลังต้องการน้ำอยู่
ถึงเวลาหรือยังที่คนไทยจะคำนึงถึงการใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป มิฉะนั้นสักวันจะเกิดภาวะวิกฤตน้ำจนไม่มีน้ำใช้ วันนั้นคงเป็นวันที่ทุกคนไม่ให้เกิดขึ้น