กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน
ซินโครตรอน เปิดห้องสะอาด (Clean room) สำหรับกระบวนการผลิตโครงสร้างจุลภาค ที่ควบคุมการปนเปื้อนของอนุภาคเป็นพิเศษ รองรับงานวิจัยและพัฒนาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ วัสดุศาสตร์ และอัญมณี เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2559 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา พร้อม เปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้ววันนี้! ทั้งจากภาควิชาการ และภาคอุตสาหกรรม
ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เปิดเผยว่า "ระบบลำเลียงแสงเทคนิคการอาบรังสีเอกซ์ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ถือได้ว่าเป็นห้องปฏิบัติการผลิตชิ้นส่วนจุลภาค (Microparts) ที่มีความละเอียดและแม่นยำสูง สร้างด้วยรังสีเอกซ์จากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ชิ้นส่วนจุลภาคจะมีขนาดเล็กมากในระดับไมโครเมตรหรือเทียบเท่าเส้นผม โดยมีอุตสาหกรรมที่ใช้ชิ้นส่วนดังกล่าว เช่น อุตสาหกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์และการผลิตเซนเซอร์ อุตสาหกรรมทางด้านการตรวจสอบวัสดุ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมการผลิตความละเอียดสูง เป็นต้น ซึ่งงานเหล่านี้ สิ่งสำคัญคือความสะอาด ชิ้นงานต้องไม่มีการปนเปื้อนฝุ่นละอองต่างๆ ดังนั้น หากสถาบันฯ มีห้องสะอาด (Clean room) ก็จะสามารถรองรับกลุ่มวิจัยเหล่านี้ได้"
ดร.รุ่งเรือง พัฒนากุล รักษาการหัวหน้าส่วนงานระบบลำเลียงแสงเทคนิคการอาบรังสีเอกซ์ กล่าวว่า "ห้องสะอาด หรือห้อง clean room สำหรับผลิตชิ้นส่วนจุลภาค สร้างขึ้นตามมาตรฐาน FED-STD-209D คลาส 10,000 และ 1,000 เพื่อใช้ในงานที่ต้องควบคุมการปนเปื้อนของอนุภาคเป็นพิเศษ ฝุ่นถือเป็นอุปสรรคสำคัญของการทำงานประเภทนี้ ยกตัวอย่างเช่น ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หากมีฝุ่นปนเปื้อนลงไป อาจเกิดการลัดวงจรและเกิดความเสียหายของอุปกรณ์ได้ ตัวอย่างงานวิจัยและพัฒนาที่ใช้เทคโนโลยีห้องสะอาด ได้แก่ ห้องปฏิบัติการบนชิพ อุปกรณ์วัดการดูดกลืนแสงทางเคมีคลินิก ชิพเลี้ยงเซลล์ และเซนเซอร์วัดความชื้น นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังมีกลุ่มอุตสาหกรรมเข้ามาใช้บริการเพื่อพัฒนางานต่างๆ เช่น บริษัท CPF พัฒนาวงจรและชุดประมวลผลเซนเซอร์ในโรงเลี้ยงไก่-เป็ด บริษัท EPSON Precision Thailand พัฒนาเทคนิคการสกัดผิวคลิสตัล บริษัท Microform Thailand พัฒนาการสร้างลวดลายจุลภาคบนอัญมณี เป็นต้น"
ทั้งนี้ สถาบันฯ ได้ให้มีการอบรมความรู้เทคโนโลยีการใช้ห้องสะอาดสำหรับกระบวนการผลิตโครงสร้างจุลภาค เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรของสถาบันฯ มีการใช้ประโยชน์ห้องปฏิบัติการสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามระบบมาตรฐานห้องสะอาด โดยมี คุณกฤต ชัยกวิน ผู้เชี่ยวชาญจาก บ. ซีเอ็ม นาโนเทคโนโลยี จำกัด ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรพิเศษ
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อเข้าใช้ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ระบบลำเลียงแสง6a: ห้องปฏิบัติการผลิตชิ้นส่วนจุลภาค เบอร์โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 1410, 1407, 1641 / e-mail: