ไทยพาณิชย์เดินหน้านำธุรกิจจีนลงทุนในไทย สนับสนุนนักลงทุนรายใหญ่ ทรินาโซลาร์ ผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์อันดับหนึ่งของโลกเปิดโรงงานในประเทศไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 28, 2016 16:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ เร่งผลักดันเศรษฐกิจไทย สานต่อนโยบายรัฐทางด้านสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ เดินหน้าดึงนักลงทุนจีนเข้าลงทุนในเมืองไทยตามนโยบายขยายการลงทุนของประเทศจีน ที่ผ่านมาอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนให้แก่ธุรกิจจีนไปแล้วกว่า 15,000 ล้านบาท ล่าสุด จับมือธนาคารหมินเซิงประเทศจีนร่วมสนับสนุนทางการเงินมูลค่ารวมกว่า 143 ล้านเหรียญสหรัฐ แก่บริษัท ทรินา โซลาร์ จำกัด ผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์อันดับหนึ่งของโลก จัดตั้งโรงงานเพื่อเป็นฐานการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ทั้งทางด้านการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศและยกระดับพลังงานสะอาดให้เป็นไปอย่างยั่งยืน จากนโยบายผลักดันการลงทุนภายนอกประเทศของรัฐบาลจีนส่งผลให้ธุรกิจจีนจำนวนมากนำเม็ดเงินไปลงทุนยังต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพื่อยกระดับการแข่งขันในระดับสากล ประกอบกับการประกาศเดินหน้าโครงการ One Belt One Road ที่ตามมาเพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานไปยังเอเชียและยุโรป ยิ่งทำให้นักลงทุนจีนตื่นตัวและออกไปลงทุนต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดึงดูดนักลงทุนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนโยบายสนับสนุนการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่เอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนที่สนใจจะมาลงทุนในประเทศไทย ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ประเทศไทยมีการลงทุนจากนักลงทุนจีนเพิ่มขึ้นกว่า 25% โดยคาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มมากยิ่งขึ้นในกลุ่มคลัสเตอร์หลัก ได้แก่ 1) เทคโนโลยีระดับสูง เช่น แผงเซลล์แสงอาทิตย์ 2) กลุ่มพลังงานทดแทน 3) ผลิตภัณฑ์จากยางพารา และ 4) โครงการโครงสร้างพื้นฐาน นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า "ในฐานะธนาคารชั้นนำของประเทศไทย ไทยพาณิชย์มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุน การเติบโตของเศรษฐกิจไทย จึงดำเนินการสานต่อนโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ นักลงทุนจากจีนที่เห็นโอกาสการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา เราได้สนับสนุนการลงทุนจากประเทศจีนในโครงการต่างๆ ไปแล้วกว่า 15,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายที่จะเติบโตเป็นสองเท่าให้ได้ภายใน 3 ปีนี้ และล่าสุดยังได้ร่วมมือกับธนาคารหมินเซิง ประเทศจีน ให้การสนับสนุนทางการเงินมูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และธนาคารให้วงเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมอีกกว่า 43 ล้านเหรียญสหรัฐ แก่บริษัท ทรินา โซลาร์ ไซเอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 700 เมกะวัตต์ และขนาด 500 เมกะวัตต์ ขึ้นในประเทศไทยที่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง โดยเริ่มเดินเครื่องการผลิตแล้วในเดือนมีนาคม 2559 "บริษัท ทรินา โซลาร์ ไซเอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ทรินา โซลาร์ จำกัด ผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์อันดับหนึ่งของโลก จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค มีมูลค่าทางการตลาดกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ธนาคารมีความยินดีที่ได้เป็นพันธมิตรทางการเงินกับ ทรินา โซลาร์ และ ความร่วมมือครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศไทย และสร้างงานให้กับประชาชนในท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นไปการยกระดับบทบาทของพลังงานสะอาดให้เกิดขึ้นไปทั่วโลก ยกระดับเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืนให้กับคนในรุ่นต่อๆ ไป ทั้งยังเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคารฯ ในการให้การสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือกที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอยู่ ณ ขณะนี้" นายอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติม นายจีฟาน เกา ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรินา โซลาร์ จำกัด กล่าวว่า "เรามีความยินดีที่สามารถเปิดดำเนินการโรงงานในประเทศไทยได้ตรงตามเวลาที่กำหนด การสนับสนุนทางการเงินมูลค่ารวม 143 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยครั้งนี้ นับเป็นความไว้วางใจที่บริษัทได้รับจากธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารหมินเซิงประเทศจีน ที่เชื่อมั่นในแบรนด์และแผนการขยายธุรกิจของเรา และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากธนาคารชั้นนำทั้งสองแห่งอีกในโครงการอื่นๆในอนาคต เพราะเรามีความเชื่อมั่นในการให้บริการที่เป็นมืออาชีพ ทีมงานที่มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์เป็นอย่างดี แผนการขยายธุรกิจของทรินา โซลาร์ ไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเซียทั้งหมดนั้น เป็นไปตามโครงการ One Belt One Road ของรัฐบาลจีน ในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของทวีปเอเซียเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน และเรามีความยินดีที่จะให้การสนับสนุนการพัฒนาพลังงานสะอาดให้เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ