กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กรีนพีซสากลเผยแพร่รายงานฉบับใหม่ระบุ ทรัพยากรน้ำจืดโลกที่กำลังลดลงอย่างรวดเร็วมีแนวโน้มร่อยหรอลงอย่างต่อเนื่องหากแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่หลายร้อยแห่งทั่วโลกยังคงเดินหน้าซึ่งเป็นแรงกดดันต่อสภาวะภัยแล้งที่รุนแรงและการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ
รายงานนี้เป็นการศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินแต่ละแห่งเป็นครั้งแรกในระดับโลกว่าด้วยต่อความต้องการใช้น้ำของอุตสาหกรรมถ่านหินทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยระบุว่าพื้นที่ที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งหากมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ก็จะยิ่งเร่งให้เกิดการลดลงของทรัพยากรน้ำมากขึ้น
"หากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ถูกสร้างขึ้น การใช้น้ำของโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ขณะนี้เรารู้ว่าถ่านหินไม่เพียงปล่อยมลพิษทางอากาศและเป็นตัวเร่งวิกฤตสภาพภูมิอากาศเท่านั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินยังแย่งชิงน้ำซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุดของเรา" แฮร์รี่ ลัมมี่ นักรณรงค์อาวุโสด้านถ่านหินโลก กรีนพีซ เอเชียตะวันออก กล่าว
โรงไฟฟ้าถ่านหิน 8,359 แห่งทั่วโลก ใช้น้ำในปริมาณเท่ากับความต้องการใช้น้ำในระดับพื้นฐานของคนมากกว่า 1 พันล้านคน 1ใน 4ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่มีแผนการที่จะสร้างในพื้นที่ที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำจืด ทรัพยากรน้ำในพื้นที่ดังกล่าวถูกนำมาใช้เร็วกว่าการทดแทนน้ำตามธรรมชาติ กรีนพีซระบุพื้นที่เหล่านี้ว่าเป็นพื้นที่บัญชีแดง
ประเทศอันดับต้นที่มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นโดยอยู่ในบัญชีแดง คือประเทศจีน (237 กิกะวัตต์) อินเดีย (52 กิกะวัตต์) และตุรกี(7 กิกะวัตต์) เกือบครึ่งหนึ่งของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของจีน อยู่ในพื้นที่บัญชีแดง ในอินเดียและตุรกีมีพื้นที่ร้อยละ 13 ที่อยู่ในพื้นที่บัญชีแดง
ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่ใช้น้ำมากที่สุด องค์การพลังงานระหว่างประเทศระบุว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า การใช้น้ำทั่วโลกเพื่อผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 การศึกษาของกรีนพีซยังแสดงให้เห็นว่า หากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่เกิดขึ้น การใช้น้ำจะสูงขึ้นถึงร้อยละ 90 สร้างวิกฤตด้านการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมถ่านหิน ในขณะที่แผนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายร้อยโครงการกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา
"รัฐบาลต้องรับรู้ว่าการแทนถ่านหินด้วยพลังงานหมุนเวียนไม่เพียงแต่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังช่วยประหยัดน้ำในปริมาณมหาศาล นี่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราจะมุ่งสู่อนาคตพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย" ไอริส เช็ง ผู้เขียนรายงานของกรีนพีซสากล กล่าว
กรีนพีซเสนอขั้นตอนทางนโยบายหลัก 3 ประการซึ่งเมื่อรวมเข้าด้วยกันจะสามารถกู้วิกฤตการใช้น้ำของอุตสาหกรรมถ่านหิน ดังนี้
ยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในภูมิภาคที่เผชิญกับวิกฤตน้ำโดยทันที และเปลี่ยนไปสู่ระบบพลังงานที่พึ่งพาน้ำน้อยหรือไม่ต้องใช้เลย อย่างเช่นพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม
แทนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยระบบการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์และลม ในพื้นที่บัญชีแดง ซึ่งจะหลีกเลี่ยงการใช้น้ำได้ 1.8 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีในจีน และ1.2 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีในอินเดีย
ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้งานมากกว่า 40 ปี ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาสามารถประหยัดน้ำได้ถึง 9 พันล้านลูกบาศก์เมตร จากการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอายุการใช้งานยาวนานลง
หมายเหตุ
รายงานเรื่อง The Great Water Grab: ความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมถ่านหินกับสภาวะการณ์ขาดแคลนน้ำทั่วโลก สามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://www.greenpeace.org/international/en/publications/Campaign-reports/Climate-Reports/The-Great-Water-Grab/
ภาพถ่ายฉบับเต็มจากอินเดีย จีน และ แอฟริกาใต้ สามารถดูได้ที่ http://photo.greenpeace.org/collection/27MZIFJ6D5N34