กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย
กกร. ตระหนักถึงวิกฤตภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย โดย ณ ขณะนี้ มีพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งสูงถึง 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พะเยา นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี สระแก้ว เพชรบุรี สุโขทัย นครสวรรค์ ชลบุรี จันทบุรี น่าน ชัยนาท และสุรินทร์ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ขาดแคลนน้ำเป็นจำนวนสูงถึง 43 จังหวัด โดยสถานการณ์การเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางยังมีปริมาณน้อยกว่าในปี 2558 เขื่อนขนาดใหญ่ยังมีปริมาณน้ำน้อย คือ ต่ำกว่าเกณฑ์กักเก็บน้ำต่ำสุด และสถานะน้ำในแม่น้ำสายสำคัญสายหลักส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะ น้ำน้อย รวมทั้งยังประสบปัญหาน้ำเค็มรุกใน 5 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
จากสถานการณ์น้ำที่ได้กล่าวมาเบื้องต้น จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังมีความเสี่ยงสูง ที่จะประสบปัญหาวิกฤตภัยแล้งอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่ง กกร. ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบ ที่เกิดขึ้นต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกรรม และภาคประชาชน รวมถึง ความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัญหาวิกฤตภัยแล้ง เป็นปัญหาใหญ่ในระดับประเทศที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนที่จะช่วยให้ประเทศรอดพ้นวิกฤตภัยแล้งไปได้
ดังนั้น กกร. จึงได้ประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ อาทิเช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมฝนหลวงและการบินเกษตร การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในการร่วมรณรงค์และหาแนวทางเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง
กกร. ขอประกาศเจตนารมณ์เพื่อลดการใช้น้ำ โดยได้ริเริ่มโครงการ "กกร.รวมใจ ใช้น้ำประหยัด ร่วมขจัดภัยแล้ง" เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกรรม ภาคประชาชน และภาคส่วนอื่นๆ ได้ตระหนักถึงผลกระทบและ ความเสียหายจากปัญหาวิกฤตภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น และร่วมมือกันรับมือกับปัญหาดังกล่าว
โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการ ได้แก่ (1) รณรงค์ให้หน่วยงานทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันลดปริมาณการใช้น้ำประปาเพื่อรับมือกับวิกฤตภัยแล้ง (2) ช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาวิกฤตภัยแล้งให้กับชุมชน และภาคเกษตรที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง (3) สร้างเครือข่ายหน่วยงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาลที่ดี และเห็นคุณค่าของการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ (4) สร้าง ความตระหนักรู้ และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร และส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของโครงการ "กกร.รวมใจ ใช้น้ำประหยัด ร่วมขจัดภัยแล้ง" คือร่วมกันลดปริมาณการใช้น้ำประปาของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการลง 30% ภายในเดือนมิถุนายน 2559 นี้ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่แสดงความประสงค์ในการร่วมลดการใช้น้ำประปา และบางหน่วยงานยินดีร่วมแบ่งปันน้ำให้กับชุมชนที่ประสบภัยแล้ง ทั้งนี้ กกร. อยู่ระหว่างการประชาสัมพันธ์โครงการและรับสมัครหน่วยงานเข้าร่วมดำเนินโครงการเพิ่มเติม และตั้งเป้าหมายมีหน่วยงานภาคเอกชนร่วมลดการใช้น้ำประปาลง ไม่ต่ำกว่า 100 หน่วยงาน
สำหรับกิจกรรมอื่นๆ ที่จะดำเนินการ ได้แก่ (1) ประชาสัมพันธ์บทบาทภาคเอกชน ในการรณรงค์เพื่อลดการใช้น้ำในช่วงที่ประเทศประสบกับวิกฤตภัยแล้ง ผ่านทาง Website และ Facebook (2) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการด้านสุขภัณฑ์แบบประหยัดน้ำลดราคาสินค้าลงในช่วงที่ประเทศประสบกับวิกฤตภัยแล้ง (3) สนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ลดการใช้น้ำประปาในหน่วยงาน รวมทั้งการแบ่งปันน้ำให้กับชุมชนและภาคเกษตรที่อยู่รอบข้าง (4) สนับสนุนโครงการของหน่วยงานภาคี เช่น การประปานครหลวง ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินกิจกรรม "ช่วยราษฎร์ ช่วยรัฐ ช่วยประหยัดน้ำประปา ปี 2" เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วน ในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ร่วมกันประหยัดน้ำ โดยมีหลักเกณฑ์การให้รางวัลกับผู้ใช้น้ำที่สามารถลดการใช้น้ำได้
ในการนี้ กกร. ขอประชาสัมพันธ์งานสัมมนา "กกร.รวมใจ ใช้น้ำประหยัด ร่วมขจัด ภัยแล้ง" ในวันอังคารที่ 29 มีนาคม 2559 เวลา 12.30 - 17.00 น. ณ ห้อง World Ballroom B-C โรงแรม Centara Grand at Central World ทั้งนี้ เพื่อเป็นการให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแนวทางการลดการใช้น้ำ และการรับมือปัญหาภัยแล้ง
ท้ายที่สุด กกร. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินโครงการ "กกร.รวมใจ ใช้น้ำประหยัด ร่วมขจัดภัยแล้ง" จะประสบความสำเร็จและเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือและช่วยลดผลกระทบจากปัญหาวิกฤตภัยแล้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งภาคเอกชนได้ตระหนักและดำเนินกิจกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า และเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน