การปรับโครงสร้างองค์กรงานของธนาคารกรุงไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday September 27, 2000 13:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--ธนาคารกรุงไทย
ธนาคารกรุงไทยปรับโครงสร้างองค์กรรับศักราชการดำเนินธุรกิจธนาคาร ภายหลังการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพกว่าห้าแสนล้านบาทไปยังบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด เน้นการบริหารความเสี่ยง และประโยชน์ของลูกค้าและผู้ถือหุ้นเป็นหลัก
สืบเนื่องมาจากการที่ทางการได้อนุมัติการจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท (SAM) เพื่อรับโอนหนี้ NPL ของธนาคารกรุงไทย จำกัด จำนวน 5.2 แสนล้านไปบริหาร โดยแยกเป็นอิสระจากธนาคาร ธนาคารจึงต้องมีการพิจารณาปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมกับสภาพการเป็น Good Bank และขนาดของสินทรัพย์ที่เหลืออยู่ และได้แนวทางกำกับการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยเรื่องของการให้สินเชื่อและการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญให้แยกการพิจารณาสินเชื่อออกเป็นอิสระ รวมทั้งการกำหนดเกณฑ์อื่นๆ ในเรื่องเกี่ยวกับสินเชื่อ ตลอดจนกการก่อภาระผูกพัน เป็นต้น
การจัดองค์กรใหม่ในครั้งนี้ ธนาคารได้นำหลักของการบริหารความเสี่ยง และระบบ Matrix System เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล (Check & Balance) และปฏิบัติงานโดยตอบสนองในวัตถุปรสงค์ต่างในเวลาเดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในคุณภาพการดำเนินธุรกิจและการประสานร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในธนาคาร
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้นำวิสัยทัศน์ (Vision) และภาระกิจ (Mission) ซึ่งคณะกรรมการธนาคารร่วมกับฝ่ายจัดการได้กำหนดขึ้นมาประกอบการปรับองค์กรในครั้งนี้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในเชิงการบริหารที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย โดยมี
Vision เป็นสถาบันการเงินชั้นนำในประเทศที่มีความมั่นคงทางการเงิน ให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล และเป็นที่พึงพอใจของลูกค้า Mission จะทุ่มเททรัพยากรในการพัฒนาระบบงาน ระบบข้อมูลข่าวสารและทรัพยากรบุคคล เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งเอกชน องค์กร หน่วยราชการ ตลอดจนรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบบริการ โดยยึดมั่นหลักการบริหาร การจัดการที่ดีมีคุณธรรม ความโปร่งใส เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของลูกค้าและธนาคาร ตามปรัชญาของการเป็นเสมือนหุ้นส่วนที่ดี โดยเฉพาะจะลดการขาดทุนสะสมทั้งหมดภายในปี 2548 ด้วยการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน และรักษาสัดส่วนกำไรที่เหมาะสม
การปรับองค์กรงานใหม่ในครั้งนี้ ธนาคารได้ยึดหลักเน้นการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ซึ่งจะก่อให้เกิดระบบการถ่วงดุล (Check & Balance) มีการควบคุมความเสี่ยง (Risk Control) และผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน (Risk Owner) นอกจากนี้ ธนาคารยังเน้นรูปแบบ Matrix Organization ซึ่งเป็นการเน้นการทำงานโดยมุ่งให้บรรลุตามเป้าหมายหลักขององค์กรและเป้าหมายของหน่วยงานในเวลาเดียวกัน อีกทั้งเน้นการรวมศูนย์สำหรับงานเชิงนโยบายและกระจายเรื่องการปฏิบัติการแก่หน่วยงานเพื่อให้ได้งานที่เป็นมาตรฐานและคุณภาพเดียว wbr และเน้นความรับผิดชอบและความสัมพันธ์ของงานให้มีความชัดเจน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สาระสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น งานบริหารธนาคารแบ่งออกเป็น
1. กลุ่มงานธุรกิจธนาคาร แบ่งออกเป็น
1.1 งานธุรกิจสาขา และธุรกิจขนาดกลาง ซึ่งจะเข้าด้วยกัน 1.2 งานธุรกิจขนาดใหญ่ 1.3 งานธุรกิจต่างประเทศและวาณิชธนกิจ
2. กลุ่มงานบริหารความเสี่ยง แบ่งออกเป็น
2.1 งานบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อ 2.2 งานบริหารความเสี่ยงด้านการเงิน
3. กลุ่มงานสนับสนุน ประกอบด้วย
3.1 งานเทคโนโลยีสารสนเทศ 3.2 งานสนับสนุนองค์กรและบริษัทในเครือ 3.3 งานบริหารทรัพยากรบุคคล
4. กลุ่มงานอื่น ๆ
4.1 มีหน่วยงานรับผิดชอบในด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการแข่งขัน ซึ่งต้องมุ่งลูกค้าในแต่ละประเภทอย่างชัดเจน 4.2 นำงานของสายงานพัฒนาธุรกิจ เข้ามารวมอยู่ในกลุ่มงานธุรกิจสาขา และธุรกิจขนาดกลาง เพื่อให้เกิดการบริหารทรัพยากรบุคคลและทรัพยากร อื่น ๆ รวมกัน 4.3 นำงานของสายงานบริษัทในเครือและการลงทุน และสายงานคณะกรรมการธนาคาร ไปรวมอยู่ในสายงานบริหารความเสี่ยง และบางส่วนขึ้นตรงต่อกรรมการผู้จัดการใหญ่
การปรับโครงสร้างในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในหลายๆด้าน โดยเฉพาะในกรณีของลูกค้านั้น จะได้รับบริการที่ดีขึ้น เนื่องจากโครงสร้างใหม่ได้ระบุผู้รับผิดชอบในลูกค้าแต่ละประเภทอย่างชัดเจน หน่วยงานภายในธนาคารจะประสานกันในการให้บริการลูกค้าดียิ่งขึ้น
ทางด้านประชาชนและหน่วยงานของรัฐนั้น องค์กรมีโครงสร้างระบบบริหารความเสี่ยงที่แยกออกมาอย่างชัดเจน ทำให้เห็นการจัดองค์กรที่เน้นให้มีการตรวจสอบ มีความเป็นเจ้าของ และความรับผิดชอบภายใต้การบริหารงานแบบธรรมาภิบาล (Good Governance) และสร้างความน่าเชื่อถือ
ส่วนผู้ถือหุ้น จะมีความมั่นใจว่าเงินลงทุนในธนาคารจะไม่สูญเปล่า และเสื่อมค่า รวมทั้งเชื่อมั่นในทิศทางที่ธนาคารจะเดินหน้าต่อไป และในท้ายที่สุด พนักงานมีความมั่นใจในทิศทางของธนาคาร สามารถเตรียมตัวปรับเพื่อให้รับกับทิศทางใหม่ สามารถตัดสินใจสำหรับอนาคตได้--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ