ปภ. บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง รณรงค์ภาคครัวเรือนลดการใช้น้ำร้อยละ 20

ข่าวทั่วไป Tuesday March 29, 2016 16:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยบริหารจัดการน้ำที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปรับแผนการจัดสรรน้ำ พร้อมจัดลำดับกิจกรรมการใช้น้ำตามความสำคัญ รวมถึงขอความร่วมมือภาคครัวเรือนให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด ลดการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 พร้อมประสานจังหวัดที่ได้รับการสนับสนุนน้ำจาก 10 เขื่อนที่มีปริมาณน้ำในระดับต่ำ ให้เพิ่มความเข้มข้นในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด และสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรมิให้ลักลอบสูบน้ำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ระยะนี้หลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 22 จังหวัด 97 อำเภอ 421 ตำบล 3,411 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 4.55 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็น จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภค 7 จังหวัด ได้แก่ น่าน สุรินทร์ ชัยนาท ชลบุรี ขอนแก่น สระบุรี และพิจิตร จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำเพื่อการเกษตร 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา สุโขทัย นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี สระแก้ว และจันทบุรี และจังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร 6 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ เพชรบุรี อุตรดิตถ์ สตูล นครราชสีมา และตราด รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำ จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยบริหารจัดการที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปรับแผนการจัดสรรน้ำ พร้อมจัดลำดับกิจกรรมการใช้น้ำตามความสำคัญ ดังนี้ น้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ น้ำเพื่อการเกษตร และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม รวมถึงจัดหาแหล่งน้ำสำรอง เพื่อสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเข้าสู่แหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาและน้ำเพื่อการเกษตร พร้อมขอความร่วมมือภาคครัวเรือนให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด ลดการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 จะช่วยยืดระยะเวลาให้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอต่อไปได้อย่างน้อย 1 เดือน สำหรับเขื่อนขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากปริมาณน้ำอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนคลองสียัด เขื่อนบางพระ เขื่อนกระเสียว เขื่อนลำปาว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา และเขื่อนลำพระเพลิง ได้ประสานให้จังหวัดที่รับการสนับสนุนน้ำจาก 10 เขื่อนดังกล่าว เพิ่มความเข้มข้นในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบสถานการณ์น้ำ ความจำเป็นในการลดการจัดสรรน้ำ พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรในพื้นที่ไม่ให้จัดทำคันกั้นน้ำและลักลอบ สูบน้ำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เพราะจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ศูนย์ฯ เขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 76 จังหวัด และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขา 30 สาขา ใน 16 จังหวัด หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ