กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๒๘ มี.ค.๕๙) เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมาธิการด้านการพัฒนาสังคม ครั้งที่ ๔ มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการพัฒนาสังคม การเสริมสร้างศักยภาพสมรรถนะองค์กร การนำนวัตกรรมมาใช้ รวมถึงการส่งเสริมและเตรียมความพร้อมเยาวชนสำหรับการประกอบอาชีพ เพื่อส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษในสังคมให้มีประสิทธิภาพ และเกิดการบูรณาการใน ๓ มิติ ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งให้ความสำคัญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ การส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ และสังคมบูรณาการ พร้อมทั้งการป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมสำหรับคนรุ่นต่อไปในอนาคต โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน ๑๒๐ คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับอาวุโสจากประเทศสมาชิก สมาชิกสมบทของ ESCAP ผู้สังเกตการณ์จากองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล ผู้แทนองค์กรในระบบสหประชาชาติ และองค์กรภาคประชาสังคม
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเต็มที่ โดยที่ ผ่านมาประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษหลายเป้าหมาย เช่น การลดความยากจน การขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศในการศึกษาทุกระดับ การพัฒนาระบบการค้าเสรี โดยมีนโยบายส่งเสริมการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต และการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในส่วนของภารกิจการพัฒนาแห่งสหัสวรรษที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ รับผิดชอบโดยตรง คือ เป้าหมายที่ ๕ ด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งกระทรวงฯได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อสตรี การเพิ่มสัดส่วนแก่สตรีในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง การพัฒนาศักยภาพผู้หญิงให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และการเมือง
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยได้ส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก โดยมีบทบาทสำคัญในโครงการต่างๆ เช่น ภายใต้กรอบอาเซียน ประเทศไทยมีการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในประเด็น ดังนี้ ๑) ความร่วมมือเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก ๒) การส่งเสริมความเท่าเทียมและคุณภาพชีวิตคนพิการกับประเทศคู่เจรจาบวกสาม ซึ่งประกอบด้วยญี่ปุ่น เกาหลี และจีน โดยส่งเสริมความเท่าเทียมและสวัสดิการสำหรับคนพิการ ๓) การทำโครงการความร่วมมือของสมาคมสตรีศึกษาอาเซียน เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และ ๔) ความร่วมมือด้านเด็กและเยาวชน ประเทศไทยและญี่ปุ่น มีความร่วมมือในการจัดโครงการเรือเยาวชนอาคเนย์ และงานชุมชนเด็กแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นต้น
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ประเทศไทยได้เล็งเห็นคุณค่าของการลงทุนกับเยาวชน และคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้ให้ความสำคัญกับระบบการศึกษา และการปกป้องคุ้มครองเยาวชนที่มีความเปราะบาง ในส่วนของระบบการศึกษา จะต้องได้รับการประกันว่าหลักสูตรที่สอนนั้น ตอบสนองกับความต้องการในตลาดแรงงาน การดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถเห็นได้จาก ๑) การที่รัฐบาลไทย ให้ความสำคัญกับการคุ้มครอง และให้สวัสดิการพื้นฐานทางสังคมแก่เด็ก เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย เป็นพื้นฐาน ที่สำคัญในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วงวัยอื่นๆ ต่อไป ๒) การมุ่งพัฒนาสังคมแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้กลุ่มคนที่มีความเปราะบาง ได้รับความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่น การส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ และ ๓) การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ที่เน้นส่งเสริมโอกาสและคุณภาพของการศึกษา การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การพัฒนาทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ การเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัย และการเข้าถึงบริการทางสังคม โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข เป็นต้น
"การประชุมครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ และเป็นโอกาสที่จะพัฒนาความร่วมมือกันในระดับที่สูงขึ้น เพื่อให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดดเด่นขึ้น ทั้งในฐานะที่เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก และการเป็นผู้นำของความพยายามบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน การดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดผลเป็นเป้าหมายที่คุ้มค่าต่อการลงทุนลงแรง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนบนโลก และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ในอนาคต" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย