กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--Hill & Knowlton
- ทีม HOW MUCH ETHANOL จากวิทยาลัยเทคโนโลยีช่างฝีมือปัญจวิทยา คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทรถต้นแบบ (Prototype) ที่ใช้เชื้อเพลิงเอทานอล ทำสถิติวิ่งได้ไกลสุด 2,040 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดจากการแข่งขันปีนี้ เทียบเท่ากับระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปยังมะนิลา
- ทีม NSTRU มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทรถต้นแบบ เชื้อเพลิงแบตเตอรี่ และรางวัลชนะเลิศประเภทการออกแบบรถยอดเยี่ยม
- 5 ทีมจากเอเชีย ร่วมท้าประลองสุดยอดนักแข่งรถประหยัดน้ำมัน ในการแข่งขันเชลล์อีโคมาราธอน ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กลางปีนี้
- ทีมเยาวชนจากประเทศไทย พร้อมด้วย 4 ทีมจากประเทศ อินโดนีเชีย ญี่ปุ่น และมาเลเชีย สร้างสถิติใหม่ในการแข่งขันด้วยระยะทางที่ไปได้ไกลขึ้น จากจำนวนนักเรียนนักศึกษาที่เข้าร่วม 117ทีม จาก 17 ประเทศ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงตะวันออกกลางและออสเตรเลีย
ทีมเยาวชนจากประเทศไทย พิชิต 3 รางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน เอเชีย ปีนี้ มีทีมนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 117 ทีม จาก 17 ประเทศ ณ สนามลูเนต้า พาร์ค ใจกลางกรุงมะนิลา ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีสุดท้ายที่กรุงมะนิลา โดยสมัครเข้าแข่งขันได้ 2 ประเภท คือแบบ Urban Concept รถที่มีลักษณะใกล้เคียงกับรถในปัจจุบัน และแบบ Prototype รถต้นแบบแห่งอนาคต รถของทีมที่วิ่งได้ระยะทางไกลที่สุดด้วยเชื้อเพลิงเทียบเท่าน้ำมันเพียงหนึ่งลิตร จะเป็นผู้ชนะเลิศในการแข่งขัน
ทีมเยาวชนไทยกวาด 3 รางวัล ในประเภทรถต้นแบบแห่งอนาคต และ1 รางวัลจากการออกแบบรถยอดเยี่ยม
ทีม HOW MUCH ETHANOL จากวิทยาลัยเทคโนโลยีช่างฝีมือปัญจวิทยา คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทรถต้นแบบแห่งอนาคตที่ใช้เชื้อเพลิงเอทานอล ทำสถิติวิ่งได้ในระยะทางไกลที่สุดในการแข่งขัน 2,040 กิโลเมตร/ลิตร ถือเป็นสถิติสูงสุดในการแข่งขันของปีนี้ เทียบเท่าระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปยังมะนิลา โดยทีมลูกเจ้าแม่คลองประปา จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 ในการแข่งขันประเภทเดียวกัน ด้วยระยะทาง 710 กิโลเมตรต่อลิตร ขณะที่ทีม NSTRU Eco-Racing จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทรถต้นแบบแห่งอนาคต ด้วยเชื้อเพลิงแบตเตอรี่ ด้วยระยะทาง 507 กิโลเมตร/กิโลวัตต์-ชั่วโมง และรางวัลการออกแบบรถยอดเยี่ยมประจำปีนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับรางวัลประเภทนี้
นาย จตุรัช บุญรักษ์ สมาชิกทีม HOW MUCH ETHANOL จากวิทยาลัยเทคโนโลยีช่างฝีมือปัญจวิทยา กล่าวว่า "พวกเราดีใจและมีความสุขมากที่ทีมเราสามารถคว้าชัยชนะได้อีกครั้งในปีนี้ จากที่เราเคยเป็นแชมป์เมื่อปี พ.ศ. 2557 สำหรับรถคันนี้ พวกเราใช้เวลาในการพัฒนาและปรับแต่งรถมานานกว่า 3 ปี ด้วยความมั่นใจเต็มร้อย ทำให้เราคว้าที่หนึ่งมาครอง ด้วยระบบวาล์วแปรผัน (Variable valve timing) นอกจากรางวัลที่พวกเราภูมิใจแล้ว การเข้าร่วมการแข่งขันดังกล่าว ยังทำให้ได้รับมิตรภาพจากเพื่อนใหม่ มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างทีมจากหลายประเทศที่มาแข่งขันในเวทีนี้ พวกเรามีความสุขมากครับ"
5 ทีมจากเอเชีย ร่วมท้าประลองสุดยอดนักแข่งรถประหยัดน้ำมันในงานเชลล์อีโคมาราธอน ที่ประเทศอังกฤษ
จุดเด่นของการแข่งขันเชลล์อีโคมาราธอนในปีนี้ หลังจากที่ได้จัดการแข่งขันมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว คือ ทีมที่เข้าแข่งขันในประเภท Urban Concept รถที่มีลักษณะใกล้เคียงกับรถในปัจจุบัน และทำระยะทางได้ดี โดยผู้ชนะจากสนามแข่งเอเชีย อเมริกา และยุโรป จะได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อหาสุดยอดนักขับรถประหยัดน้ำมัน (Drivers' World Championship) ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ ควีน เอลิซาเบธ โอลิมปิกส์ พาร์ค (Queen Elizabeth Olympic Park) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กลางปีนี้ และในตอนท้ายของการแข่งขัน ทีมผู้ชนะจะได้รับเชิญให้ไปเยี่ยมชมโรงงานของ สคูเดเรีย เฟอรรารี่ (Scuderia Ferrari) ในประเทศอิตาลี เป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์เต็ม รวมทั้งจะได้พบปะกับทีมนักแข่งจากเฟอร์รารี่ ในเมืองมาราเนลโล พร้อมทั้งจะได้รับการชี้แนะและคำปรึกษาจากเหล่าวิศวกร เพื่อพัฒนารถให้พร้อมสำหรับการแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน ครั้งต่อไปในปี พ.ศ. 2560
และจากผลการแข่งขันของเอเชียในปีนี้ มีทีมที่ได้รับเลือกให้เข้าไปแข่งขันในการแข่งขันสุดยอดนักขับรถประหยัดน้ำมัน จำนวน 5 ทีม ได้แก่ 3 ทีมจากประเทศอินโดนีเซีย คือ ทีมจากมหาวิทยาลัย Universitas Indonesia ทีมจากวิทยาลัยเทคโนโลยี Institut Teknologi Sepuluh Nopember และทีมจากมหาวิทยาลัย Universitas Pendidikan ส่วนอีกหนึ่งทีมเป็นทีมจากมหาวิทยาลัย De La Salle ประเทศฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ยังมีทีมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ ได้รับสิทธิพิเศษเข้าร่วมการแข่งขันดังกล่าว ในฐานะผู้เข้าแข่งขันแบบไวล์การ์ด (Wild card) อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่า ทีมไทย 3 ทีมที่เข้าร่วมแข่งขันรถประเภท ดังกล่าวไม่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าไปแข่งขันในรายการระดับโลก
นาย นอร์แมน คอช ผู้อำนวยการด้านเทคนิคระดับโลก ของเชลล์ อีโค-มาราธอน กล่าวว่า "การแข่งขันสุดยอดนักขับรถประหยัดน้ำมัน นับเป็นก้าวสำคัญในวิวัฒนาการของการแข่งขัน เชลล์อีโค-มาราธอน และการขับรถประหยัดพลังงานในระดับโลก ที่ท้าทายนักเรียนนักศึกษาให้ขับรถไปได้ไกลกว่าที่เคยทำมาก่อน"
"ผมตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็น 5 ทีมจากการแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน เอเชีย ทำระยะทางได้อย่างดีเยี่ยม เพื่อจะได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมการแข่งขันสุดยอดนักขับรถประหยัดน้ำมัน ณ งาน Make the Future London และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นพวกเขามีโอกาสได้ประลองฝีมือกับทีมที่เก่งที่สุดของโลก"นายนอร์แมน กล่าว
4 ทีม สามารถสร้างสถิติใหม่ในการแข่งขัน ได้แก่ อินโดนีเชีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย และประเทศไทย
ทีมจากมหาวิทยาลัย Universitas Indonesia ประเทศอินโดนีเซีย สามารถทำระยะทางได้มากกว่าทีมที่ชนะในปีที่แล้วถึงสองเท่า ด้วยสถิติ 275 กม./ลิตร ในประเภท Urban Concept โดยใช้น้ำมันเบนซิน นอกจากนี้ทีมจาก Hyogo Prefectural Tajima Technical Institute ประเทศญี่ปุ่น ใช้เชื้อเพลิงดีเซล ได้ทำลายสถิติตัวเองจากครั้งก่อน ด้วยระยะทาง 1,424 กม./ลิตร ในประเภท Prototype ส่วนทีมจากมหาวิทยาลัย Universiti Teknologi Mara (UiTM) Shah Alam Malaysia จากประเทศมาเลเซีย ก็ได้ทำลายสถิติตัวเองจากแข่งขันในปีที่แล้วเช่นกัน ในเชื้อเพลิงประเภทไฮโดรเจน ด้วยระยะทาง 476 กิโลเมตร/ลูกบาศก์เมตร ประเภท prototype รวมทั้งทีมจากวิทยาลัยเทคโนโลยีช่างฝีมือปัญจวิทยา ประเทศไทย ที่สามารถทำสถิติใหม่ดีขึ้นจากที่ปีที่แล้ว ด้วยระยะทาง 2,040 กิโลเมตร/ลิตร ในประเภท prototype
5 รางวัลพิเศษนอกสนามแข่งมอบให้ทีมที่โดดเด่น
นอกเหนือจากรางวัลในสนามแข่ง (on-track awards) จำนวน 24 รางวัล แล้ว แต่ละทีมยังสามารถลุ้นชิงรางวัลพิเศษ (off-track awards) ในประเภทต่างๆ อีก 5 รางวัล คือ รางวัลด้านการสื่อสารยอดเยี่ยม การออกแบบยานยนต์ยอดเยี่ยม ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีดีเด่น ด้านความปลอดภัยยอดเยี่ยม และรางวัลความพยายามยอดเยี่ยม ซึ่งทีม NSTRU Eco-Racing จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช ก็ได้คว้ารางวัลชนะเลิศออกแบบรถยอดเยี่ยมประจำปีนี้ไปครองอีกด้วย
สรุปผลทีมที่ชนะการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน เอเชีย ประจำปี 2559
1. ทีมจากวิทยาลัยเทคโนโลยีช่างฝีมือปัญจวิทยา คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทรถต้นแบบแห่งอนาคตที่ใช้เชื้อเพลิงเอทานอล สามารถทำสถิติวิ่งได้ในระยะทางไกลที่สุดในการแข่งขันแข่งขัน 2,040 กิโลเมตร/ลิตร ถือเป็นสถิติสูงสุดในการแข่งขันปีนี้
2. ทีม NSTRU Eco-Racing จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
คว้า 2 รางวัลชนะเลิศ ในประเภทรถต้นแบบเชื้อเพลิงแบตเตอรี่ เชื้อเพลิงแบตเตอรี่ สามารถสร้างสถิติใหม่ ด้วยระยะทาง 507 กิโลเมตร/กิโลวัตต์-ชั่วโมง และรางวัลออกแบบรถยนต์ยอดเยี่ยม
3. ทีมลูกเจ้าแม่คลองประปา จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ รางวัลรองชนะเลิศประเภทรถต้นแบบแห่งอนาคต เชื้อเพลิงเอทานอล ด้วยระยะทาง 710.8 กิโลเมตร/ลิตร
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอนจากทั่วโลกรวมถึงกฎระเบียบอย่างเป็นทางการ ข้อแนะนำสำหรับการลงทะเบียนและรายละเอียดเกี่ยวกับรางวัลในการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอนได้ที่เว็บไซต์ www.shell.com/ecomarathon
สามารถดาวน์โหลดรูปในงานการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอนเพิ่มเติมได้ที่ https://www.flickr.com/photos/shell_eco-marathon/