กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังรับฟังการบรรยายสรุป เกี่ยวกับภาพรวมสถานการณ์น้ำและภัยแล้งจังหวัด การป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรีอำเภอห้วยกระเจา ความคืบหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง 8 มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร และความคืบหน้าการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง พ.ศ.2556 ณ ที่ว่าการอำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมติดตามตรวจสถานการณ์น้ำฯ ณ สระน้ำบ้านหนองมะสังข์ และพบปะเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งที่ข้าวเสียหายโดยสิ้นเชิง ว่า จังหวัดกาญจนบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่ประกาศภัยแล้ง 13 จังหวัด ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งได้ติดตามและเร่งรัดให้แต่ละหน่วยเน้นการทำงานกันอย่างบูรณาการ โดยนำระบบ Single command มาใช้ในการดำเนินการ เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบหลัก ให้สามารถชี้แจงข้อมูลรายละเอียดในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน ทราบถึงปัญหาในแต่ละจุดเพื่อแก้ไขให้ตรงจุด พร้อมกับทำหน้าที่เป็นผู้สร้างความเข้าใจ ขยายความแก่เกษตรกรในเรื่องต่างๆได้ อาทิ การใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ การตรวจสอบปุ๋ยปลอม การเลือกใช้อาหารสัตว์ การปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมทั้งการหาตลาดมารองรับผลผลิตของเกษตรกร
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังกล่าวชี้แจงแก่เกษตรกรถึงปริมาณน้ำต้นทุนที่มีน้อยมากพร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรปลูกข้าวเฉพาะในส่วนที่ใช้ดำรงชีพ เพื่อลดผลกระทบจากความเสียหาย นอกจากนี้ได้ยืนยันว่าภาครัฐพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการทำอาชีพอื่นแทนการปลูกข้าว อาทิ การทำปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงแพะแบบครบวงจรในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากพบว่ามีความเหมาะสมที่จะพัฒนาด้านปศุสัตว์มากกว่าเพาะปลูก อีกทั้งยังเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการพัฒนาการรวมกลุ่มพื้นที่เป็นฟาร์มแพะขนาดใหญ่รองรับการท่องเที่ยวในจังหวัดและการส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย
ด้านนายประวัติวิทย์ สวัสดิ์ดวง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 13เปิดเผยในส่วนการดำเนินงานของกรมชลประทานว่า ขณะนี้กรมชลประทานอยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำจากคลองท่าล้อ-อู่ทอง ไปยังอ่างเก็บน้ำหนองนาทะเล และสระเก็บน้ำสาธารณะต่างๆ ในพื้นที่อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากเนื่องจากฝนตกน้อย เป็นประจำทุกปี และมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้หากดำเนินการตามแผนงานโครงการดังกล่าว จะสามารถผลิตน้ำประปาให้แก่หน่วยงาน ส่วนราชการ และราษฎรในพื้นที่ได้จำนวน 6,872 ครัวเรือน หรือประมาณ33,000 คน รวมถึงจัดสรรน้ำแก่พื้นที่การเกษตรในเขต 3 ตำบล ได้อีกกว่า15,000 ไร่ โดยคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2560