กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ว่า ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยขณะนี้มีการประกาศเขตพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(ภัยแล้ง) แล้ว จำนวน 12 จังหวัด 46 อำเภอ 216 ตำบล 1,893 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัด เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พะเยา สุโขทัย นครสวรรค์ นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี เพชรบุรี และสระแก้ว โดยพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด คือ จ.นครราชสีมา มีจำนวน 10 อำเภอ 62 ตำบล 659 หมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม ได้มีการตรวจสอบพบพื้นที่ที่ยังไม่ประกาศภัยแล้ง แต่มีแนวโน้มจะขาดแคลนน้ำ จำนวน 28 จังหวัด จึงต้องเร่งจัดเตรียมน้ำเข้าไปช่วยเหลือ โดยพิจารณานำน้ำจาก 2 แหล่ง คือ 1.น้ำบาดาล 2.การสนับสนุนรถบรรทุกน้ำไปช่วยเหลือ โดยในเบื้องต้นกระทรวงกลาโหม จะเข้าดำเนินการช่วยเหลือ 15 จังหวัด กระทรวงมหาดไทย 7 จังหวัด กระทรวงเกษตรฯ 6 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 28 จังหวัดโดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 มี.ค.59 เป็นต้นไป สำหรับสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 5 ก.พ. 59 มีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งนอกและในเขตชลประทาน 18,613 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้น้ำทั้งประเทศ 15,487 ล้าน ลบ.ม.
"ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ มีแผนเพื่อการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ โดยได้สำรวจพบพื้นที่ที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในช่วง 3 เดือน จำนวนทั้งสิ้น 391 อำเภอ ซึ่งในนี้มีพื้นที่ที่เสี่ยงใกล้วิกฤตภัยแล้ง จำนวน 28 จังหวัด กระทรวงเกษตรฯ จึงได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านการใช้น้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถสนับสนุนน้ำทำการเกษตรได้ เนื่องจากน้ำในเขื่อนหลักมีปริมาณจำกัดโดยใช้ได้ถึงสิ้นเดือน ก.ค.59 ส่วนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศน์ และการปลูกพืชสวนยังใช้ได้อยู่ ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องห่วงเรื่องจะขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ส่วนการปลูกพืชไร่ขอความร่วมมือเกษตรกรว่ายังไม่เหมาะสมที่จะปลูกในขณะนี้ และขอความร่วมมือทุกภาคส่วนให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว
ด้านการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในการอุปโภคและบริโภคให้กับประชาชนนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ 8 จุด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ กาญจนบุรี พิษณุโลก อุดรธานี นครราชสีมา จันทบุรี และสุราษฏร์ธานี โดยเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ 1 มี.ค.59 เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้เริ่มดำเนินการแล้วใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดนครสวรรค์ และกาญจนบุรี ทำให้เกิดปริมาณน้ำฝนบ้างในพื้นที่
สำหรับมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งของส่วนราชการต่างๆ นั้น กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้าน) โครงการมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจน(กยจ.) โครงการสนับสนุนการจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร และมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล ซึ่งได้เร่งรัดดำเนินการอย่างเต็มที่ กระทรวงกลาโหม 1 โครงการ ได้แก่ โครงการราษฏร์-รัฐ ร่วมใจสู่ภัยแล้ง กระทรวงการคลัง มี 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินของเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME และโครงการชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤตภัยแล้ง ในพื้นที่ประสบภัยแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำแม่กลอง 26 จังหวัด จำนวน 1 แสนราย
ขณะที่การดำเนินการ 8 มาตรการของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต มาตรการชะลอหรือขยายเวลาชำระหนี้ มาตรการจ้างงาน มาตรการเสนอโครงการการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชุมชน มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน มาตรการเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และมาตรการสนับสนุนอื่นๆ โดยทั้งหมดนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการอย่างเต็มที่ ซึ่งบางโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว และบางโครงการอยู่ในระหว่างดำเนินการประมาณร้อยละ 50-70 อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ผ่าน ครม. แล้ว บางมาตรการอาจติดขัดล่าช้าในกระบวนการเบิกจ่าย จึงได้หาแนวทางร่วมกันทั้ง 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ และสำนักงบประมาณ ในการเร่งรัดการดำเนินงานการเบิกจ่ายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้รวดเร็วยิ่งขึ้น