กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
"เด็กและเยาวชนทุกคนสามารถพัฒนาได้ ด้วยกระบวนการที่ดี ขอเพียงผู้ใหญ่ให้โอกาสและเปิดพื้นที่แก่เขา" คือความเชื่อที่โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก (Active Citizen) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ยึดมั่นมาโดยตลอดและค่อยๆ ส่งต่อสู่พื้นที่ต่างๆ ในภูมิสังคมภาคตะวันตก เพื่อให้ผู้ใหญ่แต่ละกลุ่มเห็นความสำคัญ และประสานมือเข้ามาสู่กระบวนการพัฒนาลูกหลานของตัวเอง
และครั้งนี้เป็นอีกโอกาสดีที่โครงการพลังเด็กฯ จะได้ถ่ายทอดความเชื่อดังกล่าวและส่งต่อกระบวนการพัฒนาเด็กแก่ผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และพี่เลี้ยงสภาเด็กและเยาวชน สังกัดสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) จากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ กว่า 200 คน เข้ามาร่วมเรียนรู้ดูงานของโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กและเยาวชน กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)
ภาวินี สุมลตรี ผู้อำนวยการกลุ่มกิจการสภาและเครือข่ายเด็กและเยาวชน กองส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชน กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของกิจกรรมว่า "เนื่องจากกรมกิจการเด็กและเยาวชนได้จัดทำหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพพี่เลี้ยงสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยขึ้น และมองว่าควรนำหลักสูตรมาใช้จริง จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนมามาประชุมเพื่อออกแบบกระบวนการเรียนรู้แก่พี่เลี้ยง โดยในหลักสูตรจะมีเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้งานในพื้นที่ เราจึงประสานงานกับทางคุณอารีย์ อาภรณ์จากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม หนึ่งในผู้ร่วมออกแบบกระบวนการให้หาพื้นที่ดูงาน ทางคุณอารีย์ก็เห็นว่าโครงการพลังเด็กฯ เข้มแข็งจึงประสานมา"
ด้าน อารีย์ อาภรณ์ ผู้ประสานงานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม บอกเล่าถึงความตั้งใจของกิจกรรมว่า "วันนี้เราพาคนที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงสภาเด็กและเยาวชนของ พมจ. และเจ้าหน้าที่จาก อปท. มาเรียนรู้การทำงานด้านเด็กและเยาวชนกับโครงการพลังเด็กฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการทำงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเข้มแข็ง มีประเด็นให้เรียนรู้ที่น่าสนใจคือ รูปแบบการทำงานของพี่เลี้ยง ซึ่งมีหลากหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็มีที่มาที่ไป และวิธีคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมได้เปรียบเทียบ และทบทวนประเด็นในพื้นที่ของตัวเองว่ามีจุดแข็งหรือต้นทุนอะไรบ้าง แล้วใช้จุดนั้นเริ่มสร้างรูปแบบการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชน"
สำหรับการจัดกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 200 ชีวิตเรียนรู้การเป็นพี่เลี้ยงในเวลาจำกัดแค่วันเดียวนั้น ทางโครงการพลังเด็กฯ ได้วางรูปแบบเป็นการลงพื้นที่พูดคุยและทำกิจกรรมกับพี่เลี้ยงตัวจริง ซึ่งมี 5 กลุ่ม ใน 6 พื้นที่ในจังหวัดสมุทรสงคราม ได้แก่ 1.แกนนำชุมชนเป็นพี่เลี้ยงในพื้นที่แพรกหนามแดง 2.คุณครูเป็นพี่เลี้ยงในโรงเรียนถาวรานุกูล 3.อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงจากมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี 4.เครือข่ายประชาสังคมเป็นพี่เลี้ยงของกลุ่มเยาวชนรักแม่กลอง 5.เจ้าหน้าที่ อปท. เป็นพี่เลี้ยงในพื้นที่บางขันแตกและแหลมใหญ่
การสร้างสรรรูปแบบดังกล่าว ทาง ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้บริหารโครงการพลังเด็กฯ กล่าวว่า "โจทย์ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ของกรมกิจการเด็กและเยาวชนคือ ต้องการให้ผู้มาศึกษาดูงาน เรียนรู้เรื่องลักษณะการพัฒนาพี่เลี้ยง เพราะฉะนั้นเราจึงวางเป้าหมายไว้ที่การให้เขาได้แลกเปลี่ยนและพูดคุยกับพี่เลี้ยงตัวจริงในพื้นที่ ซึ่งทางโครงการพลังเด็กฯ มีรูปแบบการพัฒนาพี่เลี้ยงอยู่ 5 กลุ่ม ได้แก่ แกนนำชุมชน ครู อาจารย์ เครือข่ายภาคประชาสังคมหรือ NGO และเจ้าหน้าที่ อปท. สำหรับการออกแบบวิธีการเรียนรู้ เราให้พี่เลี้ยงโครงการลงไปคุยกับพี่เลี้ยงพื้นที่และเด็กว่าจะสร้างการเรียนรู้กับผู้มาดูงานที่ต้องกลับไปเป็นพี่เลี้ยงอย่างไร ให้เขาได้ประโยชน์ ไม่น่าเบื่อ โดยไม่ใช้การบรรยาย จากนั้นก็ร่วมกันออกแบบ แล้วทดลองทำกิจกรรม"
การเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพี่เลี้ยงในพื้นที่ ผู้ศึกษาดูงานจะเห็นลักษณะการเป็นพี่เลี้ยงแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน ทั้งบุคลิก ความรู้ ความเข้าใจ และเงื่อนไขของการเป็นพี่เลี้ยง โดย ชิษนุวัฒน์ บอกต่อว่า เมื่อกลับจากการลงพื้นที่ ผู้ศึกษาดูงานจะมาถอดและสรุปบทเรียนว่า พี่เลี้ยงแต่ละกลุ่มมีปัจจัยเงื่อนไขอะไรในการทำงานกับเด็ก ทักษะอะไรที่สำคัญ ชุดความรู้และประสบการณ์อะไรที่ต้องมี ซึ่งผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์กับการทำงานในพื้นที่ของตัวเอง
หลังกิจกรรมจบลง ผู้เข้าร่วมอบรมต่างได้บทเรียนกลับไปตามแต่จะเลือกหยิบ ดังเช่น สุวรรณิภา กลิ่นขจร รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแพง อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ที่บอกว่า การจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ของเธอเกิดจากการได้รับคำสั่งจากต้นสังกัดให้จัดตั้ง ซึ่งก็ทำไปตามคำสั่ง โดยไม่รู้ว่าสภาเด็กและเยาวชนต้องทำอะไรบ้าง แต่การมาดูงานวันนี้ทำให้เธอเห็นการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนที่เกิดจากพื้นที่ลงมือเอง จึงทำให้เห็นวิธีการเปิดพื้นที่ให้เด็ก ซึ่งจะนำไปปรับใช้ในท้องถิ่นของเธอต่อไป
ฟาก ปิยะนารถ หนูพลับ นักพัฒนาชุมชนชำนาญการ จากเทศบาลตำบลโคกม่วง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เล่าว่า "วันนี้ลงพื้นที่แพรกหนามแดง ที่มีพี่เลี้ยงเป็นแกนนำชุมชน ซึ่งการทำงานของเขาจะมีการลงพื้นที่สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลเด็กว่ากลุ่มไหนเป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มไหนต้องได้รับความช่วยเหลือ เพื่อเป็นข้อมูลให้รู้ว่าต้องทำกิจกรรมอะไร หรือร่วมกันทำงานกับใครในชุมชน จึงแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนได้ตรงจุด อีกสิ่งคือการติดตามเด็ก หลังจากเขาทำกิจกรรมแล้วไปประกอบอาชีพอยู่ที่อื่น เพราะหากเด็กรู้ว่ายังมีคนรักและเป็นห่วงเขาอยู่ เขาจะก้าวไปต่อด้วยความเชื่อมั่น โดยใช้การติดตามผ่านเฟสบุ๊คหรือไลน์ที่เด็กยุคใหม่ชอบใช้ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้เห็นความเป็นไปของน้อง และสามารถให้กำลังใจอยู่ห่างๆ ได้ซึ่งเป็นบทเรียนที่ใหม่มากสำหรับเรา"
การดูงานในพื้นที่ครั้งนี้ เหล่าผู้เข้าร่วมน่าจะได้วิธีคิดและกระบวนการที่สามารถนำไปปรับใช้ สำหรับแก้ปัญหาการทำงานด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่ บางคนอาจได้บทเรียนใหม่ที่อยากนำไปเสริมการทำงาน แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาบอกตรงกันคือได้ "พลังใจ" จากเพื่อนร่วมหน้าที่ จนอยากกลับไปขยับงานส่วนของตนเองให้สำเร็จเหมือนพื้นที่นี้บ้าง