กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--กรมสุขภาพจิต
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคทางจิตเวชเป็นโรคเรื้อรังและเป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่ง สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทำให้ควบคุมตนเองได้ไม่ดี ต้องดูแลตัวเองอย่างต่อเนื่องและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ การบำบัดรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากได้รับการรักษา ความเสี่ยงที่จะไปทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นก็จะน้อยลง ซึ่งต้องขอย้ำว่า โรคทางจิตเวชทุกโรค สามารถรักษาได้ เช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ ยิ่งเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ ยิ่งดี และผู้ป่วยจิตเวชก็ไม่ได้เป็นอันตรายหมดทุกคน ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้เหมือนคนปกติทั่วไป แต่ต้องไม่ขาดยา นอกจากนี้ การใช้สารเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า และเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ทุกชนิด เป็นสิ่งต้องห้ามอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้เกิดอาการกำเริบรุนแรงแล้ว ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ และยาเสพติดจะไปกระตุ้นสมองโดยตรง มีผลต้านฤทธิ์ยาที่แพทย์ใช้รักษาได้ ญาติและคนรอบข้างจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาผู้ป่วยไม่ได้สิ้นสุดที่โรงพยาบาล ไม่สามารถมอบให้เป็นภาระของใครหรือหน่วยงานใดเป็นการเฉพาะได้ การป้องกันการเกิดภาวะอันตรายจากความเจ็บป่วยทางจิตนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยครอบครัว ชุมชน หน่วยงานของรัฐ ทั้งในระบบสาธารณสุขและนอกระบบสาธารณสุข ในการติดตามเฝ้าระวังอาการเตือน และรีบนำมาสู่การบำบัดรักษา ก่อนที่อาการทางจิตจะกำเริบรุนแรงจนเกิดภาวะอันตราย อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคทางจิตเวช มีหลายหลากชนิดและอาการ การบำบัดรักษา มีทั้ง 1.การใช้ยารักษา ซึ่งจะใช้ตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น หากซึมเศร้า ก็จะให้ยาต้านอารมณ์เศร้า ส่วนอาการทางจิตก็ต้องใช้ยาที่ลดอาการทางจิต ซึ่งขอย้ำว่า ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์เท่านั้น นอกจากนี้ อาการข้างเคียงของยาที่เกิดขึ้น เช่น ยาต้านเศร้า ส่วนใหญ่มีผลข้างเคียงระดับต่ำ เมื่อทานจนอาการดี ก็จะทานต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 6 เดือน เพื่อที่จะลดอัตราการกลับมาป่วยซ้ำ 2.ทำควบคู่กับจิตบำบัด พูดคุยเพื่อทำให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจตัวเองและมีความพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่ผิดปกติ พร้อมปรับกระบวนการคิดที่ส่งผลให้อาการของโรคแย่ลง และ 3.การจัดการดูแลรักษาด้วยสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ครอบครัว และกลุ่มเพื่อน ที่จะเข้ามามีส่วนสนับสนุนทำให้ผู้ป่วย มีความเข้มแข็ง สามารถเผชิญกับปัญหาได้
ทั้งนี้ ความเจ็บป่วยทางจิตไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการไม่ต้องรับโทษได้เสมอไป เนื่องจากความเจ็บป่วยทางจิตที่เข้าข่ายวิกลจริตนั้นจะต้องมีความเจ็บป่วยทางจิตจริงและความรุนแรงของความเจ็บป่วยต้องมากพอถึงขนาดไม่รู้ผิดชอบหรือบังคับตนเองไม่ได้เลยจึงจะได้รับการยกเว้นโทษตามกฎหมาย ถ้ายังรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือบังคับตนเองได้บ้างก็จะต้องรับโทษตามส่วนไป แต่ถ้ายังรู้ผิดชอบหรือบังคับตนเองได้ แม้ว่าจะเจ็บป่วยทางจิตก็ตาม ก็จะไม่ได้รับการยกเว้นโทษตามกฎหมาย รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว