กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นโครงการของกระทรวงมหาดไทย และสำนักโยธา กรุงเทพมหานคร มอบหมายให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ปรึกษาศึกษาสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยสจล. ชี้แจงกรณีกลุ่ม Friends of the River เผยแพร่ข่าวและภาพเกี่ยวกับโครงการไม่ตรงกับข้อเท็จจริง 7 ประเด็น ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อประชาชนและวัตถุประสงค์ของโครงการที่ทำเพื่อประชาชนทุกคนและประโยชน์ส่วนรวมนั้นถูกบิดเบือน เผยแนวทางโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร ไม่ได้สร้างเป็นถนนคอนกรีตรถวิ่ง 19.5 เมตร เหมือนกันตลอดเส้นทางตามที่กลุ่มนี้มักอ้าง แต่จะพัฒนาออกแบบร่วมกับชุมชนเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนทุกคนระดับสามารถเข้าถึงแม่น้ำสายหลักที่เป็นมรดกของชาติได้อย่างเท่าเทียมกัน
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี (Asst.Prof.Dr.Antika Sawadsri) โฆษกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีแนวคิดหลักคือ เจ้าพระยาเพื่อทุกคน (Chaophraya for All ) มาจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการมอบเป็นพื้นที่สาธารณะแก่ประชาชนทุกคนทุกระดับได้เข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเท่าเทียมกัน และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เป็นการพัฒนาภูมิทัศน์และโครงข่ายทางเดิน -ปั่น บางช่วงเลียบแม่น้ำ บางช่วงวกเข้าพื้นดิน เชื่อมต่อพื้นที่สีเขียว นันทนาการ วัฒนธรรม และระบบขนส่งสาธารณะรถ เรือ ราง โดยมีแนวคิดเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนทุกคน, เป็นการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและชุมชนให้ยั่งยืน, การอนุรักษ์วิถีและวัฒนธรรมริมน้ำ, การพัฒนาภูมิทัศน์วัฒนธรรม และทางเดิน-ปั่นที่เป็นมิตรกับ คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม, ส่งเสริมการใช้พื้นที่ในรูปแบบที่หลากหลาย, เชื่อมโยงให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ในระดับชุมชนและสังคม, พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียและการระบายน้ำ, ส่งเสริมประสิทธิภาพการป้องกันน้ำท่วมของ กทม. ที่มีอยู่เดิม, แก้ปัญหาการรุกล้ำด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม และเคารพสิทธิ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ยินดีรับฟังข้อคิดเห็นในทางสร้างสรรค์จากทุกภาคส่วน ความร่วมมือร่วมใจกันเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้แม่น้ำเป็นของประชาชนทุกคน ฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมามีสุขภาพดี สวยงามและสะท้อนอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันไปของแต่ละย่าน ชุมชน และพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
แต่ที่ผ่านมากลุ่ม FOR ได้เผยแพร่ข้อมูลและภาพที่อ้างว่าเป็นรูปแบบของโครงการอันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งยังนำไปลงเว็บไซต์ให้คนทั่วไปลงชื่อคัดค้านโครงการนี้ ดังนั้นในนามของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจึงขอชี้แจงให้ประชาชนได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริง ใน 7 ประเด็น ดังนี้
1.) คำกล่าวอ้างว่าโครงการมีแบบออกมาแล้วโดยยังไม่ได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ลงนามในสัญญาโครงการ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งในขณะนี้อยู่ในช่วงของการดำเนินงานศึกษาและสำรวจภาคสนามกับชุมชน โดยพื้นที่ที่อยู่ในขอบเขตศึกษาสองฝั่งสำหรับแผนแม่บท ระยะทางรวมสองฝั่ง 57 กม. และอยู่ในกระบวนการลงพื้นที่สำรวจและรับฟังความเห็นของชุมชนในพื้นที่ระยะนำร่องสองฝั่งรวม 14 กม.จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เพื่อหาแนวทางการออกแบบร่วมกันต่อไปนั้น ทางโครงการฯ จึงยังไม่มีภาพของรูปแบบโครงการ และข้อเสนอใดๆ ออกมา หากประชาชนพบเห็นภาพถนนสีแดงบนแม่น้ำทีกลุ่มนี้เผยแพร่ออกไปไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม ขอย้ำว่าไม่ใช่รูปแบบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแต่อย่างใด
2.) คำกล่าวอ้างว่าโครงการนี้ กำหนดให้วิศวกรรมนำนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากเครือข่ายยังคงใช้ข้อมูลคลาดเคลื่อนอ้างอิง แม้ว่านายยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้ง Friends of the River (FoR) และกรรมการบริษัท ฉมา จำกัด ได้มาเข้าพบ สจล. ถึง 2 ครั้ง ซึ่ง ทางสจล.ได้ชี้แจงข้อมูลและสาระของ TOR จากสจล.ไปแล้ว แต่การเผยแพร่ข้อมูลของเครือข่ายดังกล่าว ยังคงเหมือนเดิม จึงอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชน เราขอชี้แจงว่าสาระ TOR ฉบับใหม่นั้น ได้ระบุให้มีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาบูรณาการร่วมกัน ทั้งงานวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ชลศาสตร์ สิ่งแวดล้อม กฎหมาย และกระบวนการมีส่วนร่วม อีกทั้ง ไม่มีการระบุให้สร้างถนนคอนกรีตรูปแบบเดียว ไม่มีรูปแบบของกำแพงสูงกว่า 3 เมตร จากแนวเขื่อนเดิมของกทม. ตามที่เครือข่ายนี้กล่าวอ้างแต่อย่างใด
3.) การแสดงภาพถนนกว้าง 19.5 เมตร และ 15 เมตร นั้น โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ขอชี้แจงว่าโครงการนี้ไม่ได้มีการกำหนดรูปแบบเป็นถนนคอนกรีตรถวิ่งกว้าง 19.5 เมตร หรือมีตอม่อตลอดในแม่น้ำเหมือนกันไปหมด รวมทั้งภาพกราฟฟิกทางปั่นจักรยานที่มีตอม่อตลอดแนวกว้าง 15 เมตร ซึ่ง ไม่ใช่งานที่ผ่านการศึกษา แต่เป็นภาพกราฟฟิกที่เกิดขึ้นจากการคาดเดาของ FOR โดยขาดผลการศึกษามารองรับรูปแบบที่ทำขึ้นมา
4.) การนำภาพโปสเตอร์และข้อมูลด้านลบแก่ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ เป็นเรื่องไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง จากการลงพื้นที่ชุมชนของทีมสจล. ชุมชนบางแห่งแจ้งว่ามีผู้นำชื่อของตนไปคัดค้านโครงการ หลายแห่งแจ้งว่ามีบางกลุ่มไปให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อมูลจากโครงการ จึงสร้างความเข้าใจผิดหลายประเด็นแก่ชุมชนและประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทางโครงการฯ ขอให้ชุมชนโปรดใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูล ในกระบวนการมีส่วนร่วมของโครงการที่สจล.กำลังลงพื้นที่พบปะชุมชนในขณะนี้จึงต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง และสจล. ขอขอบคุณประชาชนที่ได้ให้ความร่วมมือกับโครงการเป็นอย่างดี
5.) กรอบเวลา 7 เดือน จะทำทันหรือไม่ สจล.มีการวางแผนดำเนินการและระดมทีมงานผู้เชี่ยวชาญทุกฝ่ายเพื่อลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในพื้นที่ศึกษา 14 กม. โดยลงพื้นที่ทำงานร่วมกับ 31 ชุมชน ใน 4 เขต (เขตบางซื่อ, เขตพระนคร, เขตบางพลัด และเขตดุสิต) รวมกว่า 180 ครั้ง ส่วนพื้นที่ศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บท 43 กม. ในพื้นที่ 13 เขต ทำกระบวนการมีส่วนร่วม รวม 39 ครั้ง รวมแล้วเราจะทำงานร่วมกับชุมชน ไม่น้อยกว่า 225 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีการพบปะปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพ สมาคมผู้ประกอบธุรกิจ และหน่วยงานราชการ รวมถึงการสัมภาษณ์นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิด้านออกแบบทางสถาปัตยกรรม, ด้านวางแผนภาคและผังเมือง, ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านอุทกวิทยาชลศาสตร์ เป็นต้น
6.) ข้อกล่าวอ้างว่าโครงการนี้ขาดการศึกษาอย่างรอบด้าน ในทางตรงกันข้ามนอกจากเรื่องบูรณาการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว ในกรอบระยะเวลา 7 เดือนนั้น โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้แนวคิด Chao Phraya for All นั้นทาง สจล.จะทำการศึกษาให้รอบด้านที่สุด จากทีมที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านชลศาสตร์ ทีมวิศวกรรมโยธา ทีมสถาปัตยกรรมและผังเมือง ทีมภูมิสถาปัตยกรรม ทีมกฎหมาย ทีมสิ่งแวดล้อม และ สำคัญที่สุดคือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนโครงการยังคำนึงถึงกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ จึงมีแนวทาง การออกแบบเพื่อการเข้าถึงของคนทุกคน แม้ว่าใน TOR ไม่ได้กล่าวถึงงานออกแบบให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ แต่ สจล.ที่มีศูนย์วิจัยและสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (IDEaR Unit) ซึ่งเราตั้งใจอย่างยิ่งที่จะนำเสนอการศึกษาที่นับรวมการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำอย่างเท่าเทียมของคนพิการ รวมทั้งรองรับการก้าวสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยอีกด้วย
ที่สำคัญ ไม่ว่าผลการศึกษาภายใต้กรอบเวลาออกมาเป็นอย่างไรนั้น หากพบว่าในบางจุดบางพื้นที่มีความซับซ้อนมาก ไม่ควรมีสิ่งปลูกสร้างใดๆ สจล.ก็พร้อมจะนำเสนอตามข้อมูลที่ได้ค้นพบวิเคราะห์ และ นำเสนอเพื่อให้มีการศึกษาเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีความซับซ้อนและต้องการเวลาเพิ่มในการศึกษาเชิงลึกต่อไป
7.) ระยะ 14 กม.ใช้งบถึง 14,000 ล้านบาท ไม่เป็นความจริง เนื่องจากโครงการมีลักษณะเป็นการพัฒนาภูมิทัศน์และทางเดิน-ปั่นริมน้ำ ไม่ใช่ทางถนนรถวิ่งจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีค่าใช้จ่ายสูงเช่นนั้น เมื่อโครงการผ่านขั้นตอนการสำรวจศึกษาและออกแบบร่วมกับชุมชนแล้วเราจึงจะทราบงบค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง
รศ. แหลมทอง เหล่าคงถาวร (Assoc.Prof.Laemthong Laokhongthavorn) คณะทำงานโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานด้านการมีส่วนร่วมได้เริ่มดำเนินการลงพื้นที่สำรวจและพบปะพูดคุยกับชุมชน 4 เขต ได้แก่ เขตบางซื่อ, เขตพระนคร, เขตบางพลัด และเขตดุสิต ในพื้นที่นำร่อง 14 กม. เป็นการประชุมเพื่อหารือกับผู้นำชุมชนเพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโครงการ คณะทำงานมีข้อสังเกตว่าผู้แทนชุมชนส่วนใหญ่จะถือภาพการพัฒนาที่เป็นถนนรถวิ่ง ซึ่งได้รับมาจากบางกลุ่ม และตั้งคำถามว่าถนนจะกว้างเท่าไหร่ เป็นคอนกรีตรูปแบบเดียวตลอดแนวหรือไม่ แต่หลังจากที่ชุมชนได้รับฟังการชี้แจงลักษณะโครงการเป็นการพัฒนาภูมิทัศน์และทางเดิน-ปั่นเลียบแม่น้ำเพื่อให้ประชาชนทุกคนทุกระดับเข้าถึงแม่น้ำได้อย่างเท่าเทียมกัน พร้อมไปกับการพัฒนาชุมชนไปด้วยจึงเข้าใจมากขึ้น และพร้อมให้ความร่วมมือในการลงพื้นที่สำรวจลักษณะทางกายภาพและช่วยกันสรุปข้อมูลปัญหาในชุมชนต้องการปรับปรุงพัฒนา ส่วนชุมชนที่รุกล้ำแม่น้ำอยู่ระหว่างกระบวนการเยียวยา โดยมี กทม. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องการย้ายที่อยู่อาศัย
ในด้านช่องทางที่ประชาชนจะแสดงข้อคิดเห็น ต่อโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มี 5 ช่องทาง ได้แก่ ตู้ปณ. 90 บางซื่อ กทม. 10800, อีเมล์ Chaophrayaforall@gmail.com, โทรศัพท์ 088-096-3888, เฟสบุ๊คแฟนเพจ Chao Phraya for All ส่วนเว็บไซต์โครงการ www.chaophrayaforall.com จะแล้วเสร็จในปลายเดือนเมษายน 2559
นายวรพจน์ บุตรลพ (MR.WORAPOJ BUDLOP) ประชาชนในหมู่บ้านและคณะกรรมการสภาภิบาลวัดคอนเซ็ปชัญ ซอยสามเสน11 ซึ่งมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ มา 341 ปี เป็นถิ่นประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและความสัมพันธ์อันอบอุ่นของคนไทยและผู้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร กล่าวว่า หมู่บ้านและวัดคอนเซ็ปชัญสนับสนุน"โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา " หรือ Chao Phraya for All เนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อการเปิดและเชื่อมโยงทัศนียภาพให้ประชาชนบนฝั่งได้เห็นและพักผ่อนกับแม่น้ำ และคนที่ล่องเรือผ่านได้เห็นประวัติศาสตร์และหมู่บ้านชาวคริสต์ริมน้ำที่มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งเริ่มจากการตั้งถิ่นฐานของชาวปอร์ตุเกส ต่อมาชาวเขมรและญวนได้หนีภัยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในอดีตทางเดินเล็กๆเลียบแม่น้ำที่เชื่อมระหว่างวัดคอนเซ็ปชัญกับวัดราชาธิวาสนี้เอง ทำให้รัชกาลที่4 ขณะทรงผนวชได้เป็นพระสหายกับพระปัลเลอกัว แห่งวัดคอนเซ็ปชัญ ทรงสนทนาธรรมและแลกเปลี่ยนความรู้วิทยาการกันและกัน หมู่บ้านและวัดคอนเซ็ปชัญนี้ยังสะท้อนถึงพระเมตตาของพระมหากษัตริย์ไทยและมิตรไมตรีที่คนไทยมีให้ผู้อื่น แม้จะแตกต่างในเชื้อชาติหรือศาสนาใดก็ตาม
ทั้งนี้สจล. กำหนดจัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการ ในวันอังคารที่ 29 มีนาคม 2559 เพื่อให้ข้อมูลในด้านที่มาของโครงการ วัตถุประสงค์ แผนการดำเนินงาน และเป้าหมายของโครงการ เพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และมาร่วมแรงร่วมใจกันในโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นแม่น้ำเพื่อประชาชนทุกคนทุกระดับ