กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--
ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ หรือ ยูยู และ การประปาส่วนภูมิภาคฉะเชิงเทรา เตรียมรับมือสถานการณ์แล้งปี 2559 ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีน้ำใช้และมีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย เผยนำโอโซนมาใช้ในระบบผลิตน้ำประปาเห็นผลดีเยี่ยม พร้อมเน้นย้ำปริมาณน้ำดิบที่นำมาผลิตน้ำประปามีเพียงพอตลอดแล้งนี้ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ทั้งนี้พื้นที่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา มีจำนวนผู้ใช้น้ำมากกว่า 28,000 ราย มีกำลังผลิตน้ำประปาสูงสุดที่ 51,600 ลบ.ม./วัน นับได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการใช้น้ำประปาเพื่อใช้ในภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมสูงพื้นที่หนึ่ง ซึ่งในสถานการณ์ภัยแล้งปี 2559 นั้นพื้นที่กิจการประปาฉะเชิงเทราไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงในเรื่องปริมาณน้ำ แต่ได้รับผลกระทบทางอ้อมในเรื่องคุณภาพน้ำที่นำมาใช้ในการผลิตในด้านค่าความเค็มและสารแขวนลอยในน้ำที่ไม่ตกตะกอน
นายศักดิ์สิทธิ์ กิจไพศาลรัตนา ผู้จัดการฝ่ายบริการ 1 บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ยูยู เปิดเผยว่า จากที่หลายฝ่ายกังวลถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศนั้น สำหรับในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ปฏิบัติการของ ยูยู ได้มีแผนปฏิบัติการใน 2 ส่วนได้แก่ แผนการจัดการด้านคุณภาพน้ำดิบ และแผนด้านปริมาณน้ำดิบเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้น้ำตลอดฤดูแล้งนี้
นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวต่อว่าสำหรับแผนจัดการคุณภาพน้ำดิบ บริษัทฯ ได้ติดตั้งระบบโอโซน (O3) ในกระบวนการรับน้ำดิบและปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อช่วยให้คุณภาพน้ำดิบดีขึ้นก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อๆ ไป
"ที่ผ่านมา เราพบปัญหาคุณภาพน้ำดิบที่มีแนวโน้มด้อยค่าอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง โดยพบค่าของแข็งละลายน้ำและสิ่งปนเปื้อน ในปริมาณที่สูง ทั้งน้ำดิบจากในคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต และน้ำดิบจากคลองนครเนื่องเขต ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบหลักที่นำมาผลิตน้ำประปา ดังนั้น บริษัทฯ จึงนำเทคโนโลยีโอโซนมาใช้ ผลที่ได้พบว่าช่วยแก้ไขปัญหาในน้ำประปาทั้งในด้านสี กลิ่น สิ่งปนเปื้อน ลดตะกอน เพิ่มคุณภาพน้ำประปา และยังสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ใช้น้ำได้มากขึ้นด้วย" นายศักดิ์สิทธิ์กล่าว
ด้าน นายรัตนัย แสงสว่าง ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขาฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า การประปาส่วนภูมิภาคได้ประสานงานกับทุกภาคส่วน ทั้ง กรมชลประทาน และ บมจ.อีสท์วอเตอร์ ในการจัดหาแหล่งน้ำดิบให้มีเพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ฉะเชิงเทรา โดยยืนยันว่ามีปริมาณน้ำที่เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง
"ในส่วนของคุณภาพน้ำที่มีค่าความเค็มสูงบ้างนั้น จะนำน้ำจากภาคเอกชนที่ได้มาเจือจางกับแหล่งน้ำดิบธรรมชาติ ดังนั้นคุณภาพน้ำก็จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีปัญหาด้านคุณภาพน้ำอย่างแน่นอน" นายรัตนัยกล่าวยืนยัน