คณะกรรมการการจราจรฯ ชุดที่ 4,5,6 สภากทม. เยี่ยมชมโครงการ “รถไฟฟ้ามหานคร”

ข่าวทั่วไป Thursday March 1, 2001 15:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--กทม.
ที่ห้องประชุมการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายไพฑูรย์ อิสระเสรีพงษ์ ส.ก.เขตหนองจอก ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการการจราจรขนส่ง ผังเมือง และระบายน้ำ ชุดที่ 6 สภากทม. พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการฯ 40 คน ได้เข้าเยี่ยมชมโครงการ “รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (หัวลำโพง — บางซื่อ)” โดยมีนายชูเกียรติ โพธยานุวัตร ผู้อำนวยการฝ่ายก่อสร้าง รฟม. ให้การต้อนรับและนำชมโครงการ ซึ่งการเยี่ยมชมโครงการฯ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาด้านการขนส่งมวลชนของรถไฟใต้ดิน การเชื่อมโยงระบบจราจร รวมถึงระบบความปลอดภัยที่โครงการฯ จัดสร้างไว้
นายชูเกียรติ โพธยานุวัตร ผู้อำนวยการฝ่ายก่อสร้างฯ กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายรัชมงคล ดำเนินงานก่อสร้างโดยองค์กรรถไฟฟ้ามหานคร หรือ รฟม. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และจะเปิดให้บริการเดินรถในปี 2545-2546 ขณะนี้การก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 60 % สำหรับเส้นทางหัวลำโพง — บางซื่อ แบ่งเป็น 18 สถานี มีระยะทางรวม 20 ก.ม. ประกอบไปด้วย สถานีหัวลำโพง, สามย่าน, สีลม, ลุมพินี, บ่อนไก่, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ฯ , สุขุมวิท, เพชรบุรี, พระราม 9, เทียมร่วมมิตร, ประชาราษฎร์บำเพ็ญ, สุทธิสาร, รัชดา, ลาดพร้าว, พหลโยธิน, หมอชิต, กำแพงเพชร และบางซื่อ ซึ่งมีมาตรการลดผลกระทบในระหว่างการก่อสร้าง เช่น การจราจรประสานกองบัญชาการตำรวจนครบาล ในการอำนวยความสะดวกระหว่างการก่อสร้างให้กับประชาชนที่ใช้เส้นทาง, การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้การขนย้ายดินจากการขุดอุโมงค์ดำเนินการเฉพาะเวลากลางคืน ตรวจสอบความสะอาด และล้อรถ ป้องกันไม่ให้เกิดฝุ่นละออง รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดเสียงดังและสั่นสะเทือนรบกวนประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ด้านความปลอดภัยได้วางมาตรการป้องกันอุบัติภัย ในระดับมาตรฐานสากล มีการอบรมความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงาน วางแนวทางป้องกันและดูแลเรื่องความปลอดภัยในการก่อสร้างด้านสุขภาพอนามัยต่าง ๆ
สำหรับการป้องกันอัคคีภัยได้จัดอบรมฝึกซ้อมการระงับภัยให้กับพนักงานในการควบคุมเพลิง การผจญเพลิง การอพยพ ตลอดจนการใช้อุปกรณ์ด้านเพลิงต่าง ๆ เพื่อป้องกันอัคคีภัยในภาวะฉุกเฉิน ส่วนการป้องกันน้ำท่วม ได้ออกแบบระดับพื้นทางขึ้น — ลง สูงกว่าระดับถนนประมาณ 1.2 เมตร มีประตูเลื่อนปิดกั้นน้ำไม่ให้ไหลลงสู่สถานีและอุโมงค์ใต้ดิน--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ