“เรียนรู้ฟิสิกส์กับสิ่งใกล้ตัว” แม้แต่เด็กเล็ก ๆ ก็เรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้…….แล้วจะพบว่าวิทยาศาสตร์ไม่ยากอย่างที่คิดวัฒนา เฉียงเหนือ

ข่าวทั่วไป Friday August 17, 2001 11:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--สสวท.
“วิทยาศาสตร์” เป็นคำที่น่ากลัวสำหรับหลายคน บางคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องสำหรับคนเก่งเท่านั้น
เมื่อพูดถึงวิทยาศาสตร์ อาจนึกถึงกิจกรรมทางวิชาการที่ต้องทดลองโดยใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เช่น หลอดทดลอง กล้องจุลทรรศน์ ฯลฯ ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว และค่อนข้างจะเป็นทางการ
แต่แท้ที่จริงแล้ววิทยาศาสตร์อยู่รอบ ๆ ตัวเรา แม้แต่เด็กเล็ก ๆ ก็เรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้จากพ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือญาติพี่น้อง แต่ผู้ใหญ่หลายคนอาจไม่กล้าที่จะชี้แนะแนวทางหรือให้ความรู้แก่เด็ก เพราะรู้สึกว่ามีความรู้ทาง วิทยาศาสตร์ไม่เพียงพอ แต่อย่างไรก็ตามการให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์แก่เด็กไม่ใช่เรื่องยากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อใช้หลักการ PLAY AND LEARN คือสอดแทรกความรู้ไปพร้อม ๆ กับการเล่น จะทำให้เด็กสนใจและไม่รู้สึกว่าถูก ยัดเยียด เพราะโดยธรรมชาติของตัวเด็กแล้ว เด็กมักมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิ่งรอบตัวเสมอ จึงควรใช้ให้เป็นประโยชน์
วันนี้เราได้มีโอกาสคุยกับ อาจารย์ราม ติวารี นักวิชาการสาขาฟิสิกส์ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งคร่ำหวอดอยู่กับการใช้ของเล่นเป็นเครื่องมือให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์แก่เด็ก โดยเฉพาะของเล่นที่ใช้องค์ความรู้ทางฟิสิกส์มาช่วยอธิบายกลไกให้เด็กเข้าใจได้ดี “จากงานวิจัยของประเทศอังกฤษพบว่าเด็กที่คิดเป็นจะต้องได้รับการฝึกฝนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น การหล่อหลอมความคิดในช่วงนั้นจะปลูกฝังความคิดได้ดีที่สุด” อาจารย์รามกล่าว
นอกจากนั้นยังเสริมว่า “การเรียนรู้วิทยาศาสตร์สามารถเกิดขึ้นได้ในครอบครัวตั้งแต่เด็กด้วยการปลูกฝังให้คิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยได้รับการกระตุ้นจากผู้ใหญ่ ซึ่งต้องให้คำอธิบาย และให้ความรู้แก่เด็ก ไม่ควรบอกปัดเมื่อเด็กสงสัยใคร่รู้ เพราะจะไปสกัดกั้นความอยากรู้อยากเห็นและหยุดความคิดของเด็ก โดยธรรมชาติของเด็กจะช่างสงสัยทุกคน จึงควรพาเด็กไปในสถานที่ที่เป็นแหล่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ให้เขาเห็นคุณค่าให้ข้อมูลและค้นคว้าหาความรู้เป็นเพื่อนเขา”
อาจารย์รามอธิบายว่า “ฟิสิกส์” หรือความรู้ทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ สามารถใช้ช่วยอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ทั้งนั้น เริ่มจากเดินเข้าไปในประตูบ้าน หลักการทำงานของลูกบิดแบบกลม ซึ่งพูดถึงหลักการของล้อและเพลา แม้แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ในบ้านก็ล้วนแต่เล่าให้เด็กฟังได้โดยใช้คำพูดง่าย ๆ ไม่ต้องซับซ้อนมากนัก
ถ้าออกไปนอกบ้าน ก็มีราวเกี่ยวกับการเกิดลมให้เด็กฟัง หรือเล่าถึงที่มาของแสงแดด คือ แสงที่เกิดจากดวงอาทิตย์ เป็นศูนย์รวมของคลื่นหลายชนิด มีรังสีที่เกิดความร้อนเรียกว่ารังสีอุลตร้าไวโอเล็ตและมีคลื่นไมโครเวฟกระจายอยู่รอบตัว หลังฝนตกเมื่อเกิดรุ้งกินน้ำก็เล่าเรื่องการหักเหของแสง
แม้แต่การเล่นดนตรี ก็สามารถแทรกความรู้เกี่ยวกับวิธีการที่ทำให้เกิดเสียง หรือแหล่งกำเนิดของเสียง อาทิ “กลอง” แรงที่ตีทำให้เกิดการสั่นสะเทือน ของหนังที่ขึงอยู่บนหน้ากลอง ทำให้เกิดเสียง เสียง “กีตาร์” เกิดจากการสั่นสะเทือนของสายและกล่องเสียง ลมที่เป่า “แซกโซโฟน” ทำให้อากาศสั่นสะเทือนจึงเกิดเสียง เป็นต้น
ของเล่นที่เด็ก ๆ นิยม เช่น ลูกข่าง ก็สามารถสอดแทรกเรื่องการทรงตัว ปืนเด็กเล่น ให้ความรู้เรื่องแรงดัน บูมเมอแรงให้ความรู้เรื่องการสะท้อนกลับ ฯลฯ หากสนใจก็มีแหล่งความรู้มากมายตามห้องสมุด ร้านหนังสือ ใน อินเทอร์เน็ตที่ช่วยอธิบายสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้เข้าใจก่อนที่จะไปถ่ายทอดให้แก่เด็ก นอกจากนั้นการเล่านิทานที่ สอดแทรกความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็ช่วยให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และสร้างเสริมจินตนาการของเด็กให้โลดแล่นได้
การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในบ้านและนอกบ้าน ต้องอาศัยความรักและการเอาใจใส่จากคนใน ครอบครัว และเป็นการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง ผู้ใหญ่อาจตอบคำถามเด็กบ้าง แต่น่าจะเป็น คำตอบที่ท้าทายให้เด็กสำรวจหรือค้นคว้าหาคำตอบเอง โดยผู้ใหญ่ช่วยอำนวยความสะดวก หากตอบคำถามของเด็ก ไม่ได้ก็ช่วยกันค้นหาคำตอบให้แก่เด็ก เทคนิคที่ดีอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กหาคำตอบไปตลอดชีวิต คือ การแนะนำแหล่งข้อมูลให้ ซึ่งอาจเป็นห้องสมุด ร้านหนังสือ พิพิธภัณฑ์หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ
นอกจากนั้นควรช่วยให้เด็กรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์อยู่กับเราทุกแห่งตลอดชีวิต แม้แต่การสำรวจบริเวณบ้าน ทำอาหาร ทำสวน ปลูกต้นไม้ ฟังการพยากรณ์อากาศ อ่านหนังสือ ดูรูปภาพ ฯลฯ และอธิบายโดยใช้แหล่งความรู้ที่มีอยู่ จะช่วยให้เด็กอยากเรียนรู้และรู้จักแก้ปัญหา คิดวิเคราะห์และตัดสินใจได้รวดเร็ว
การเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากสิ่งรอบ ๆ ตัว อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้เร็วโดยไม่ต้องกวดวิชาอย่างหนักก็เป็นได้ หากลองทำดูจะรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวและคุณอาจจะสนุกกับวิทยาศาสตร์อย่างไม่รู้ตัว
ความหวังที่จะทำให้สังคมประสบความสำเร็จด้านวิทยาศาสตร์ ส่วนหนึ่งอยู่ที่ตัวคุณเอง…….
สำหรับ “การสอนวิทยาศาสตร์ด้วยของเล่น” ในโรงเรียนนั้น วิชาวิทยาศาสตร์เป็นวิชาหนึ่งที่สามารถนำของเล่นมาช่วย เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจและเชื่อมโยงการเล่นไปสู่กณฌกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ ถ้าครู รู้จักจัดของเล่นให้เข้ากับสิ่งที่นักเรียนจะต้องเรียนรู้ แล้วนำมาใช้โดยตรงกับบทเรียน เช่น นำมาสาธิตเพื่อนำเข้าสู่ บทเรียน หรือนำมาให้นักเรียนเล่นประกอบกิจกรรมการเรียน ก็จะช่วยดึงความสนใจของนักเรียนให้อยากเรียน อยากรู้ จะช่วยให้ครูสอนได้ง่ายขึ้น หรือกระตุ้นให้นักเรียนคิดหาคำตอบ ข้อสรุปหรือเชื่อมโยงกับเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ที่จะเรียนต่อไปได้
ของเล่นที่จะนำมาใช้กับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นจะต้องราคาแพง แต่ครูอาจจะหาจากของ ทั่ว ๆ ไปที่มีอยู่ หรือประดิษฐ์จากเศษวัสดุก็ได้ เพียงแต่ครูจะต้องรู้จักหยิบมาใช้ให้ตรงกับบทเรียนและวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ เช่น จะใช้สอนเรื่องอะไร นำมาใช้สอนเมื่อใด ให้เด็กเล่นอย่างไร จะใช้คำถามกระตุ้นอย่างไรเด็กถึงจะสนุกและได้ความรู้ควบคู่กัน
ขณะนี้ สสวท. ได้ทยอยผลิตสื่อและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ล่าสุด สสวท. กำลังผลิตวีดิทัศน์การทดลองทางฟิสิกส์ที่ดูแล้วสามารถทดลองเองที่บ้าน และวีดิทัศน์เรื่องฟิสิกส์ในชีวิตประจำวัน เป็นการให้ความบันเทิงและความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวโดยใช้ความรู้ทางฟิสิกส์มาช่วยอธิบาย เช่น บอลลูน รถไฟฟ้า BTS เครื่องเล่นที่ดรีมเวิร์ล เป็นต้น เพื่อให้วิทยาศาสตร์เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง และขั้นต่อไปที่ สสวท. จะดำเนินการ คือซีดีรอมให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และที่กำลังจะเป็นรูปเป็นร่าง คือ การฝึกปฏิบัติทดลองในอินเทอร์เน็ตและสามารถโต้ตอบกับนักวิชาการ สสวท. ได้โดยตรงและทันทีทันใดในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หากสนใจหรือมีคำถามใดที่อยากรู้ก็สามารถเข้าไปหาข้อมูลได้ใน เว็บไซต์ สสวท. WWW.IPST.AC.TH-- จบ--
-อน-

แท็ก ฟิสิกส์  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ