กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลาที่มีไข่ และวางไข่เลี้ยงลูก (ปิดอ่าว) ฝั่งทะเลอันดามัน ณ ศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลฝั่งอันดามัน กระบี่ ตำบลไสไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ว่า การประกาศมาตรการการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลาที่มีไข่ และวางไข่เลี้ยงลูก ปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน นับเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงของประเทศ โดยจะประกาศปิดอ่าวฯ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายนของทุกปี ในอาณาเขตพื้นที่ 4,696 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนใน 4 จังหวัดได้แก่ จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ซึ่งมาตรการปิดอ่าวฯ นี้ได้มีการกำหนดห้ามใช้เครื่องมือในการทำประมงบางชนิดที่ส่งผลกระทบต่อขยายพันธุ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำวัยอ่อนโดยเฉพาะ "ปลาทู" ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ
ในพิธีปิดอ่าวฯ มีการปล่อยเรือตรวจประมงทะเลออกปฏิบัติงาน ซึ่งในปีนี้ได้มีหน่วยงานร่วมสนับสนุนในการออกลาดตระเวนผู้กระทำผิดกฎหมายตลอด 24 ชั่วโมงได้แก่ ศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลฝั่งอันดามันกระบี่ ตำรวจน้ำ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ สำนักงานป้องกันและบรรเทา สาธารณะภัยจังหวัดกระบี่ กองทัพเรือภาค 3 หน่วยอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลและชายฝั่งจังหวัดกระบี่ กรมเจ้าท่า สารวัตรสถานีตำรวจน้ำ 1 กองกำกับการ 9 กอง นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ศูนย์ประสานการปฏิบัติงานในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล) และเครือข่ายต่างๆ อาทิ ประมงอาสา ยุวประมง ฯลฯ เข้ามาร่วมดำเนินงานอย่างบูรณาการเพื่อช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกันปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.ก ประมง2558
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมายให้กับผู้ที่มาร่วมงานได้มีส่วนร่วมในการจัดพิธีครั้งนี้ อาทิ การร่วมกันปล่อยพันธุ์กุ้งแชบ๊วยจำนวน 2,000,000 ตัวลงสู่ท้องทะเล การจัดนิทรรศการความรู้ทางด้านประมง ผลงานวิชาการที่น่าสนใจ เพื่อให้ความรู้กับชาวประมงและประชาชนในท้องถิ่นที่เดินทางมาร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี อีกทั้งในปีนี้ชมรมปั่นจักยานของกระบี่จำนวน 9 ชมรมได้ปั่นจักยานร่วมรณรงค์และประชาสัมพันธ์การประกาศปิดอ่าวฯ ตั้งแต่สวนสาธารณะธารา มาจนถึงบริเวณพิธีด้วย
สำหรับเครื่องมือที่ห้ามทำการประมง ได้แก่ 1.อวนลากทุกประเภททุกขนาดที่ใช้ประกอบเรือกล2. อวนประเภทล้อมจับทุกชนิด 3. อวนติดตาที่มีช่องเล็กกว่า 4.7 เซนติเมตร แต่มีเครื่องมือบางชนิดที่ได้รับการยกเว้นให้ทำการประมงได้ ได้แก่ 1. เครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตักในเวลากลางวันทำการประมงตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพรอาทิตย์ตก 2. เครื่องมืออวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบกับเรือกล (เครื่องมืออวนลากคานถ่างแผ่นตะเฆ่มีคานถ่างหรืออวนลากแคระที่ใช้ประกอบเรือกลซึ่งเชือกเส้นใยประดิษฐ์เป็นสายลากอวน เฉพาะในเวลากลางคืนตั้งแต่พระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้น) และ 3.เครื่องมืออวนโป๊ะ หากผู้ใดฝ่าฝืนพ.ร.ก. การประมงพ.ศ. 2558 จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 30 ล้านบาท หรือปรับห้าเท่าของมูลค่าสินค้าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า รวมทั้งริบเครื่องมือ สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สินค้าสัตว์น้ำ เรือประมง หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ในการกระทำผิด หรือได้มาโดยการกระทำผิดด้วย