กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เตรียมร่วมเวทีประชุมองค์กรย่อยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ SBSTA สมัยที่ 44 ณ ประเทศเยอรมนี กลางเดือนพฤษภาคมนี้ ชู 2 ประเด็นเข้าหารือ คือ มาตรการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ และการกำหนดแนวทางปฏิบัติและเทคโนโลยีด้านเกษตรฯ หวัง ผลักดันขีดความสามารถในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ในฐานะประเทศกำลังพัฒนา
นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในเดือนพฤษภาคมนี้ สศก. จะเป็นผู้แทนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมเข้าร่วมการประชุมองค์กรย่อยเพื่อให้คำปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมัยที่ 44 (Subsidiary Body on Scientific and Technological Advice: SBSTA 44) ภายใต้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 16-26 พฤษภาคม 2559 ณ กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ดังนั้น สศก. จึงได้จัดประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภาคเอกชน ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งได้มีมติเห็นชอบให้เสนอร่างข้อคิดเห็นด้านเกษตรอย่างเป็นทางการ ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตรแล้ว โดยในลำดับต่อไปจะต้องนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการประสานท่าทีการเจรจาและความร่วมมือระหว่างประเทศ และคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ตามลำดับ
สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับด้านเกษตรที่จะนำเข้าพิจารณาหารือ ในเดือนพฤษภาคม ณ กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีนั้น มี 2 หัวข้อ ได้แก่ 1) การกำหนดมาตรการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตร และ 2) การกำหนดและประเมินแนวทางปฏิบัติและเทคโนโลยีด้านเกษตรต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน ความมั่นคงอาหาร และการมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ในรูปแบบของการประชุมเชิงปฏิบัติการ (in-session workshop) ซึ่งที่ประชุม SBSTA ได้เชิญประเทศภาคีสมาชิกและองค์กรสังเกตการณ์ส่งข้อคิดเห็นด้านเกษตร (submission) เพื่อนำเข้าพิจารณาหารือในการประชุมดังกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มุ่งหวังให้การเสนอข้อคิดเห็นด้านเกษตรครั้งนี้ ก่อเกิดผลดีต่อประเทศไทย เนื่องจากเป็นช่องทางหนึ่งในการส่งสัญญาณความต้องการ เพื่อขอรับการสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการสนับสนุนเทคโนโลยีและความช่วยเหลืออื่นๆ ต่อภาคการเกษตรของไทยในเวทีการเจรจาระดับโลก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มากยิ่งขึ้น รองเลขาธิการ กล่าวทิ้งท้าย