กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--โรงพยาบาลรามาธิบดี
ในประเทศไทยพบว่าเด็กอายุ 1 ขวบเป็นโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าร้อยละ 60 และเด็กอายุ 2 ขวบเป็นโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าถึงร้อยละ 80-90 ซึ่งเชื้อไวรัสโรต้าค่อนข้างทนและมีชีวิตอยู่ได้นานหลายวัน ซึ่งเชื้ออาจปนเปื้อนอยู่ที่ของเล่นหรือสิ่งของเมื่อเด็กจับแล้วนำมือเข้าปากก็ติดเชื้อได้ จึงยากที่จะระวัง หากเด็กได้รับเชื้อจะมีอาการไข้ซึ่งอาจสูงถึง 39 องศาเซลเซียส และอาเจียนซึ่งอาจมากถึง 7-8 ครั้งต่อวัน รวมทั้งท้องร่วงถ่ายเป็นน้ำซึ่งอาจมากถึง 7 ครั้งต่อวัน บางรายอาการอาจรุนแรงจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยแพทย์จะรักษาตามอาการเนื่องจากไม่มียาหรือการรักษาโดยเฉพาะ หากอาการรุนแรง อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะช็อก และหากรักษาไม่ทันก็อาจเสียชีวิตได้
ผศ.นพ. ชนเมธ เตชะแสนศิริ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า "เด็กทุกคนถ้าอายุ 2-3 ขวบจะเคยเป็นโรคอุจจาระร่วงที่เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้ามาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ทารกอายุ 3-4 เดือนก็สามารถติดเชื้อได้ แต่จะพบบ่อยในเด็กอายุระหว่าง 1-2 ขวบ ไวรัสโรต้าเป็นโรคที่ติดต่อง่ายแต่ป้องกันยาก วิธีการป้องกันทารกและลูกน้อยจากเชื้อไวรัสโรต้าที่สำคัญคือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตลอดจนการสร้างสุขอนามัยที่ดี การรักษาความสะอาด การล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ อย่างไรก็ตามวิธีการเหล่านี้ไม่สามารถป้องกันได้ครบถ้วนสมบูรณ์ การรับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าเป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคได้"
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มอบวัคซีนโรต้าให้ฟรีสำหรับเด็กอายุ 2-3 เดือนเพื่อป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า โดยจำกัดเฉพาะครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือนและสามารถนำบุตรหลานมารับวัคซีนได้ครบ 2 ครั้ง จึงขอเชิญชวนผู้ปกครองนำบุตรหลานมารับวัคซีนฟรี (มีจำนวนจำกัด) ตั้งแต่วันนิ้ถึง 30 เมษายน 2559 หรือจนกว่าวัคซีนหมด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โทร. 02-201-1774 ในเวลาราชการ