กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อุบลราชธานี
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี จับมือกรมราชทัณฑ์ จัดกิจกรรมคัดกรองและค้นหาผู้ป่วยวัณโรคแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ
วันนี้ 24 มีนาคม 2559 ที่เรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี โดยนางสาวศิริวรรณ ชุมนุม หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ร่วมกับ เรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ จัดกิจกรรมคัดกรองและค้นหาผู้ป่วยวัณโรคแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยมีนายธีระ รักษาประเสริฐกุล ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธี
นางสาวศิริวรรณ ชุมนุม กล่าวว่า สถานการณ์วัณโรคในประเทศไทยปัจจุบันยังมีความรุนแรง ประกอบกับวัณโรคยังเป็น 1 ใน 3 โรคหลักที่องค์การอนามัยโลกได้ตั้งเป้าหมายให้ปลอดผู้ป่วย ซึ่งในเรือนจำ 141 แห่งทั่วประเทศ ยังพบผู้ต้องขังป่วยวัณโรค และวัณโรคดื้อยาจำนวนมาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงได้ดำเนินงานควบคุมวัณโรคโดย การค้นหา การรักษา การส่งต่อ การรายงานข้อมูลผู้ป่วย รวมถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้วัณโรคแก่ผู้ต้องขัง เนื่องจากกลุ่มผู้ต้องขังเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีโอกาสเสี่ยงสูง ซึ่งผู้ที่ได้รับเชื้อก่อนจำคุกสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้ต้องขังรายอื่นได้ไม่ยาก และผู้ต้องขังที่ติดเชื้อไม่ว่าจะติดจากนอกหรือในเรือนจำ ก็สามารถกลับไปแพร่กระจายเชื้อให้กับชุมชนได้เมื่อพ้นโทษแล้ว ดังนั้น การค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มประชากรกลุ่มนี้จึงมีความสำคัญมาก ช่วยให้ได้รับการรักษาในการป่วยระยะเริ่มแรก ลดการแพร่กระจายเชื้อ ลดอัตราการเสียชีวิต รวมทั้งลดปัญหาการดื้อยาวัณโรค
นางสาวศิริวรรณ กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ พบว่า ในปี 2558 มีผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมด 18 ราย ส่วนในปี 2559 นี้จากการคัดกรองเบื้องต้น พบผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงป่วยวัณโรคถึง 250 ราย จากผู้ต้องขังทั้งหมด 1900 ราย จึงได้ทำการเก็บตัวอย่างเสมหะเพื่อตรวจยืนยันในห้องปฏิบัติการต่อไป
นอกจากนี้ ขอแนะนำประชาชนให้สังเกตอาการตนเอง ว่าเจ็บป่วยด้วยวัณโรคหรือไม่ โดยอาการจะเริ่มจากไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด บางคนยังทำงานได้ปกติ จึงทำให้เชื้อโรคแพร่ไปสู่คนอื่นได้ หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาให้เร็วที่สุด เพราะวัณโรคหากพบเร็ว โอกาสรักษาหายสูงและไม่แพร่กระจายเชื้อ ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422. นางสาวศิริวรรณ กล่าวปิดท้าย