กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--อย.
องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ตระเวนออกรณรงค์จับตา สินค้าสุขภาพผิดกฎหมายใน 8 จังหวัด พบสินค้าสุขภาพผิดกฎหมายจำนวนมาก โดยเฉพาะเครื่องสำอาง มีสารต้องห้ามไฮโดรควิโนน สารปรอทแอมโมเนียและกรดวิตามินเอ จำนวน 48 ยี่ห้อ มากกว่า 3,000 ชิ้น นอกจากนี้ยังมียาที่เพิกถอนทะเบียนตั้งแต่ปี 2539 วางขายเกร่อเต็มตลาดตามแนวชายแดน เรียกร้อง อย. ทบทวนมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคด้านเครื่องสำอางจากการกำกับดูแลมาเป็นควบคุมกำกับ ใช้มาตรการ ทางสังคม ลงโทษผู้ประกอบการที่ทำผิดซ้ำซาก ลงโทษตามกฎหมายสูงสุด
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 11 จังหวัด และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค แถลงว่า จากการออกคาราวาน “ร่วมพลังต้านสินค้าสุขภาพที่ผิดกฎหมายให้หมดไปจากตลาด” ในพื้นที่ 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น มหาสารคาม บุรีรัมย์ กรุงเทพฯ เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี พบผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายจำนวนมาก เช่น เครื่องสำอาง ยาที่ถูกเพิกถอนทะเบียนบางตัวยังมีวางจำหน่ายอยู่ โดยเฉพาะเครื่องสำอาง มีถึง 48 ยี่ห้อ จำนวนกว่า 3,000 รายการ มีส่วนผสมของสารที่กฎหมายห้ามผสมเช่น ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ สารปรอท ได้แก่ ยี่ห้อแพนจอย สตอง เมลาแคร์ วินเซิร์ฟ คลินิกรามา ฮอลลีวู๊ดแอนเทเอท 99 ดีซีโลชั่น คลินิก 99 ชุดรักษาฝ้า ดร.ธนา ชุดทาฝ้าปาริชาติ เวอร์ตอง สปริงซอง ไดฟู ครีมไข่มุก ซิงซิง อีมูน สุภาภรณ์ เอ็ดการ์ด บีแอน ครีมตรักซ์ โทรี่ครีม ดอกคูณ ครีมขมิ้น เป็นต้น ส่วนยาที่ถูกเพิกถอนทะเบียนแล้วแต่ยังมีขายอยู่ เช่น ยาแมรี่แคปซูล ของบริษัทไบรวู้ด ซึ่งเพิกถอนทะเบียนตั้งแต่ปี 2539 ยาเฟนฟลูรามีน ไฮโดรคลอไรด์ แจ้งสรรพคุณ เป็นภาษาอังกฤษว่า ลดความอ้วนและเบาหวานผลิตจากประเทศจีน นอกจากนั้นยังมียาลดไขมันบรรจุในแคปซูลประกอบด้วยตัวยาระบาย ยานอนหลับและยาลดความอ้วนเฟนฟลูรามีน
“เครื่องสำอางที่เครือข่ายผู้บริโภคพบนี้ มีการโฆษณาทางสถานีวิทยุ ผู้จัดรายการพูดสด และเปิดเป็นสปอต ซึ่งต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป บางชนิดมีขายในร้านค้าย่อยที่เช่าพื้นที่ ในห้างสรรพสินค้า ผู้บริโภคบอกว่า ใช้เครื่องสำอางเหล่านี้เพราะมีการโฆษณาทางวิทยุ น่าจะถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ครีมแพนจอย สตอง เป็นการจงใจเติมสารอันตรายซ้ำซาก เพราะที่ผ่านมาทาง อย.เคยประกาศเตือนแล้วแต่ก็ยังทำความผิดซ้ำซากอีก ส่วนใหญ่เจ้าของเดียวกัน แต่มีหลายผลิตภัณฑ์ พอสินค้าตัวนี้มีปัญหา ก็ยังมีสินค้าตัวอื่นอีก ยังมีปัญหาโฆษณาอวดอ้างเกินจริง ฉลากไม่ครบถ้วน” น.ส.สารี กล่าว
นอกจากนี้ จากการออกคาราวานครั้งนี้ ยังพบเครื่องสำอางและยานำเข้าจากต่างประเทศ ไม่มีฉลากภาษาไทยจำนวนกว่า 30 รายการ เช่น สบู่และยาเพิ่มและลดสัดส่วนของร่างกาย ยาทำให้ผมยาว ยาลดความอ้วน และการขอข้อมูลรายการผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับการตรวจสอบและเฝ้าระวังจากสำนักงาน อย. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมีเพียง 2 จังหวัดที่เปิดเผยข้อมูลคือ บุรีรัมย์และเชียงราย และจังหวัดขอนแก่น ให้ข้อมูลสถานการณ์แต่ไม่เปิดเผยรายการสินค้าที่ได้รับการตรวจสอบ ส่วนอีก 5 จังหวัดไม่มีไม่มีการตอบสนอง ซึ่งการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดหลังการจำหน่ายหรือ Post Marketing Surveillance ในประเทศไทย ยังเป็นปัญหามาก
ทั้งนี้ มูลนิธิผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค 11 จังหวัด เสนอแนวทางด้านนโยบายต่อการ คุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพต่อสำนักงาน อย.คือ ปรับปรุงการลงโทษผู้ประกอบการที่ละเมิดสิทธิ ผู้บริโภคซ้ำซาก เช่น กรณีของเครื่องสำอางแพนจอย สตอง ทบทวนมาตรการกำกับดูแลเครื่องสำอาง ซึ่งไม่ต้องขออนุญาตโฆษณามาเป็นการควบคุมกำกับ ที่ต้องขออนุญาตกับสำนักงาน อย.ก่อน เนื่องจาก พนักงานสาธารณสุขในส่วนภูมิภาคสะท้อนว่า มีความยุ่งยากในการกำกับดูแล เพราะขาดกำลังคน และงบประมาณ ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนหรือกลุ่มผู้บริโภคใช้มาตรการทางสังคมกับผู้ประกอบการ เช่น ไม่ซื้อสินค้า รวมทั้งการลงโทษผู้ประกอบการที่โฆษณาเกินจริง ไม่ได้สรรพคุณตามที่กล่าวอ้างด้วยกฎหมาย สูงสุด
น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า สารไฮโดรควิโนนในเครื่องสำอาง ก่อให้เกิดการระคายเคือง เกิดจุดด่างขาวที่หน้า ผิวหน้าดำถาวร เป็นฝ้าถาวรรักษาไม่หาย ส่วนสารปรอทแอมโมเนีย ทำให้เกิดการแพ้ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของปรอททำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ไตอักเสบ กลัวแสง กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ สำหรับกรดวิตามินเอ ที่พบผสมในเครื่องสำอาง ใช้แล้วหน้าแดง แพ้รุนแรง แสบร้อน เกิดการอักเสบและผิวหน้าลอกรุนแรง ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารเหล่านี้จัดเป็นเครื่องสำอางไม่ปลอดภัย ซึ่งกฎหมายกำหนดโทษ ผู้ผลิตเพื่อขายและผู้ขาย มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับผลิตสุขภาพผิดกฎหมายทั้งหมด เครือข่ายผู้บริโภคมอบให้ผู้แทนสำนักงาน อย. เพื่อดำเนินการต่อไป--จบ--
-นศ-