กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--ศูนย์บริการวิชาการ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัย จุฬาฯ ประสบความสำเร็จนำกระดองปลาหมึกมาใช้เป็นสารเสริมแรงชนิดใหม่สำหรับยางธรรมชาติเพิ่มประสิทธิภาพใช้งานด้านอุตสาหกรรมและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริลักษณ์ พุ่มประดับภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า งานวิจัยกระบวนการพัฒนาและปรับปรุงคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติให้สามารถตอบสนองต่อการใช้งานในอุตสาหกรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้ มุ่งศึกษาและปรับปรุงสมบัติเชิงกล เชิงความร้อน และเชิงพลวัตของยางธรรมชาติให้สามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อการนำไปใช้งานในภาคอุตสาหกรรมได้ โดยแบ่งหัวข้องานวิจัยออกเป็น 3 หัวข้อ ดังนี้
1) การหาสารเสริมแรงชนิดใหม่มาทดแทนสารเสริมแรงชนิดดั้งเดิม
งานวิจัยนี้ถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่นำกระดองปลาหมึกซึ่งมีแคลเซียมคาร์บอเนตสูงถึง 90%มาใช้เป็นสารเสริมแรงชนิดใหม่สำหรับยางธรรมชาติทดแทนการใช้แคลเซียมคาร์บอเนตที่มีขายในอุตสาหกรรมที่มาจากการระเบิดภูเขา หรือเตรียมขึ้นมาจากกระบวนการทางเคมีเป็นการเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติหรือจากภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเล เป็นกระบวนการกำจัดขยะทางทะเลที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวประมง นอกจากนี้ข้อดีของการนำวัสดุที่เหลือใช้จากธรรมชาติมาใช้เป็นสารเสริมแรงนั้น คือ ราคาถูก น้ำหนักเบา และที่สำคัญคือสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
2) การผลิตวัสดุสีเขียว (Green materials)
พอลิเมอร์ที่มีการหดตัวได้ดีเยี่ยมเมื่อได้รับความร้อน คือ ยางธรรมชาติ ดังนั้นในงานวิจัยนี้ได้นำยางธรรมชาติมาการผสมคู่กับพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำเพื่อให้ฟิล์มหดที่ได้มีความยืดหยุ่นและหดตัวได้ดีขึ้น หรือการปรับปรุงสมบัติของพอลิแล็กติกแอซิดให้มีความยืดหยุ่น ทนต่อความร้อนได้สูง โดยการผสมร่วมกับยางธรรมชาติและตัวประสาน เป็นการเพิ่มมูลค่าของยางพารา ลดการพึ่งพิงการใช้ผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพียงอย่างเดียว และยังสามารถพัฒนาวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเนื่องจากยางธรรมชาติที่ใช้ไม่ได้ผ่านการคงรูปไม่
มีการใช้สารเคมี การมีองค์ประกอบของโปรตีนในน้ำยางสามารถทำหน้าที่เป็นเอนไซม์ในการย่อยสลาย เพื่อผลิตวัสดุสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3) การนำกลับมาใช้ใหม่ของยางธรรมชาติที่หมดอายุการใช้งานแล้ว
ศึกษากระบวนการสลายพันธะกำมะถันในยางธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการวัลคาไนเซชัน โดยใช้กระบวนการเชิงกลร่วมกับการเติมสารเคมี เพื่อนำยางที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ กระบวนการดังกล่าวเป็นกระบวนการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ต้นทุนสารเคมีมีราคาถูก ง่ายต่อการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตสูงได้ องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยนี้สามารถถูกนำไปพัฒนากระบวนการสลายพันธะกำมะถันที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งช่วยในการแก้ไขปัญหาการกำจัดขยะยาง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะยาง และเป็นแนวทางในการพัฒนาเพื่อนำไปใช้จริงในอุตสาหกรรมยางต่อไป