ทีเอร่วมสมาคมวิทย์ประกวดนักวิทย์น้อย ส่งเสริมเด็กรักวิทยาศาสตร์ผ่านโครงงานวิทย์

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday May 30, 2001 07:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--เทเลคอมเอเซีย
..... เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ที่ผ่านมา บริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่/ประธานคณะผู้บริหาร ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย โดย ผศ.ดร.อารมณ์ เพชรชื่น นายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย แถลงข่าวการประกวด "โครงงานวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษาในระดับชาติ ประจำปี ๒๕๔๔ " ณ อาคารเทเลคอมทาวเวอร์ ถนนรัชดาภิเษก
..... คุณศุภชัย เจียรวนนท์ กล่าวว่า วิทยาศาสตร์เป็นวิชาความรู้ที่สำคัญ ที่ช่วยพัฒนาความคิด สติปัญญาของผู้สนใจ และยังเป็นการสร้างประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดี มีขีดความสามารถในการพัฒนาหรือแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้ และเทเลคอมเอเซียมีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนด้านการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ของเยาวชน
..... "ในช่วงระยะเวลา ๕-๑๐ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในอันดับท้ายในเรื่องขีดความสามารถของบุคลากร โดยเฉพาะบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งหลายฝ่ายต่างวิตกกังวลและพยายามหาทางที่จะช่วยกันยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ กิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะเอื้อให้เด็กไทย คิดเป็น ทำเป็น และช่วยเสริมการเรียนรู้จากครูในโรงเรียน ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับว่าจะเป็นวิธีการเรียนการสอนที่จะช่วยพัฒนาเด็กของเรา ส่งผลให้เขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ใฝ่เรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยด้วย"
..... คุณศุภชัย ยังได้กล่าวอีกว่า การจัดการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ๗ ปีที่ผ่านมา พบว่า มีจำนวนโครงงานที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาจำนวนมากขึ้นตามลำดับ โดยในปีเริ่มต้น ๒๕๓๗ มีจำนวน ๑๐๕ โครงงาน และในอีก ๒ ปีถัดมาในปี ๒๕๓๙ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น ๑๕๓โครงงานและปีที่ผ่านมามีจำนวนเพิ่มสูงมากขึ้นถึง ๒๘๐ โครงงาน เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นเกือบ ๓ เท่านับจากปีแรก
..... ทั้งนี้ไม่เพียงแต่จะเพิ่มขึ้นในเชิงมีปริมาณเท่านั้น แต่ในด้านคุณภาพก็มีการพัฒนาปรับปรุงไปในทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้โครงงานของเด็กหลายๆ โครงงาน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงภายในชุมชนของเขา ได้แก่ โครงงานประดิษฐ์อิฐบล็อกปูพื้นจากเศษวัสดุเหลือใช้ โครงงานประดิษฐ์เครื่องบำบัดน้ำทิ้งจากโรงอาหาร เป็นต้น
..... ทางด้าน ผศ.ดร.อารมณ์ เพชรชื่น กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมได้ร่วมกับบริษัท เทเลคอมเอเซียฯ จัดประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษาในระดับชาติ ประจำปี ๒๕๔๔ อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว เนื่องจากเล็งเห็นว่าการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์นั้น จะต้องเน้นให้นักเรียนทำเป็นและแก้ปัญหาเป็น และจะต้องมีวิธีการที่ส่งเสริมให้บรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว
..... การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ขึ้นมาก็เพื่อให้นักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลายมีโอกาสได้แสดงออกถึงสติปัญญา ความสามารถในทางวิทยาศาสตร์ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้โรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศจัดการเรียนการสอนโดยเน้นนักเรียนเป็นจุดศูนย์กลางในการสร้างความรู้และพัฒนาเจตคติทางวิทยาศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อให้นักเรียนมีโลกทัศน์ทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น
..... ปัจจุบันเยาวชนและคุณครูวิทยาศาสตร์ต่างมีความตื่นตัวในการทำโครงงานเข้าประกวดมากขึ้น เพราะกิจกรรมนี้เป็นเวทีที่เปิดกว้างสำหรับเยาวชน และให้โอกาสแก่เยาวชนทั่วประเทศ เด็กทุกคนไม่ว่าจะได้รับรางวัลหรือไม่ก็ตาม ก็จะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เป็นที่น่าสังเกตว่าโครงงานที่ส่งเข้ามาในแต่ละปีนั้นมีการพัฒนามากขึ้น นักเรียนได้รับการชี้แนะมากขึ้น เพราะได้เห็นการพัฒนาตัวอย่างจากรุ่นพี่ เป็นเหมือนวิวัฒนาการที่สร้างเครือข่ายการเรียนรู้
..... นอกจากจุดเด่นที่สำคัญที่สามารถเป็นโครงงานที่ใช้ได้จริงแล้ว ตัวโครงงานวิทยาศาสตร์บางประเภทยังมีการเชื่อมโยงกับชุมชนของเยาวชน และชุมชนเองก็เห็นคุณค่าของการสนับสนุนให้เยาวชนได้จัดทำโครงงานด้วย เป็นการสะท้อนถึงการที่เยาวชนเห็นปัญหาของชุมชนและต้องการมีส่วนร่วมในชุมชนของตนด้วย เช่น ตัวอย่างของชุมชนที่เป็นชาวประมงขนถ่ายน้ำมัน ซึ่งมีคราบน้ำมันอยู่เต็มบริเวณท่าเรือ เด็กก็คิดโครงงานที่สามารถหาสิ่งที่มาขจัดคราบน้ำมันที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น ขนสัตว์ปีก เป็นต้น
..... "การทำโครงงานวิทยาศาสตร์เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับลักษณะนิสัยของเด็กมากที่สุด เพราะเด็กมีนิสัยใฝ่รู้ อยากรู้อยากเห็น อยากทดลอง อยากลองทำดูให้ได้ดี ซึ่งการหาคำตอบก็มีอยู่ทั่วไป" ผศ.ดร.อารมณ์กล่าว
ใครมีลูกหลานสนใจพลาดตรงนี้ไม่ได้
การประกวดโครงงานในปีนี้ประเภทของโครงงานที่ส่งเข้าประกวดนั้นต้องเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาหาความรู้เพื่อให้ได้คำตอบเกี่ยวกับเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหรือการอนุรักษ์ และประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ การนำกลับมาใช้ใหม่ การลดมลพิษของสิ่งแวดล้อม การหาหรือสร้างสิ่งทดแทนที่มีอยู่เดิม หรือการประดิษฐ์สิ่งต่างๆทางวิทยาศาสตร์
โดยมีกติกาในการประกวด คือ
ผู้ที่มีสิทธิส่งโครงงานเข้าประกวดต้องเป็นนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย (ป.๕-ป.๖) ทั้งจากภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ โครงการแต่ละโครงการประกอบด้วยนักเรียน ทีมละไม่เกิน ๓ คน นักเรียนคนหนึ่งมีสิทธิ์ส่งโครงงานได้เพียง ๑ โครงงาน โรงเรียนแต่ละโรงเรียนส่งโครงงานได้ไม่เกิน ๖ โครงงาน โรงเรียนส่งรายงานการทำโครงงานฉบับสมบูรณ์โครงงานละ ๑ ฉบับ สำหรับการคัดเลือกรอบแรก ทั้งนี้จะเริ่มเปิดรับโครงงานตั้งแต่วันศุกร์ที่ ๑ มิถุนายน ศกนี้ และปิดรับโครงงานวันศุกร์ที่ ๑๓ กรกฎาคม แจ้งผลการคัดเลือกรอบแรก วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ กรกฎาคม นำเสนอโครงงานที่เข้ารอบสุดท้าย วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ สิงหาคม และจัดแสดงโครงงานในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ระหว่างวันเสาร์ที่ ๑๘ -วันพุธที่ ๒๒ สิงหาคม ศกนี้
โครงงานที่ได้เข้ารอบสุดท้าย จะได้รับเหรียญรางวัลเกียรติบัตร และเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำและส่งโครงงานเข้าประกวดโครงงานละ ๒,๐๐๐ บาท สำหรับโครงงานที่ได้รับรางวัลชมเชยในการคัดเลือกรอบแรกจะได้รับเกียรติบัตร ส่วนโครงงานที่ไม่ได้รับรางวัล จะได้รับเกียรติบัตรการเข้าร่วมประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา ทั้งนี้แต่ละรางวัลอาจมีหลายโครงงานได้
นักเรียนและโรงเรียนที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามและส่งโครงงานได้ที่ ผศ.ดร.อารมณ์ เพชรชื่น หรือ C/O อาจารย์มณฑล อนันตรศิริชัย สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย โรงเรียนหอวัง ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ โทร. (๐๓๘) ๒๘๖-๔๙๑ และ ๙๓๙-๗๔๐๘ โทรสาร ๒๘๖-๔๙๒ และฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ บริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เลขที่ ๑๘ อาคารเทเลคอมทาวเวอร์ ถนนรัชดาภิเษก ห้วยขวาง กรุงเทพฯ ๑๐๓๒๐ โทร. ๖๙๙-๒๐๓๙ -๔๔ โทรสาร ๖๙๙-๒๐๐๘หรือที่ TA Cyber World Web site, E-Mail: woravuth_Cha@telecomasia.co.th-- จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ