กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--Image Solution
สศอ.เผย อุปสรรคขวางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต หลังถกเครียด 9 ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ย้ำไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฮบริดและรถไฟฟ้า รัฐบาลต้องส่งเสริมให้ลงทุนแบบ Package
จากกรณี บริษัทกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ประกอบด้วย บริษัท อีซูซุ, โตโยต้า, นิสสัน และฮอนด้า ได้เสนอให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฮบริดและรถไฟฟ้า ในการประชุมหารือ Prime Minister Meets CEOs ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 ร่วมกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ล่าสุด นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)เชิญผู้ผลิตรถยนต์แต่ละรายมาหารือเกี่ยวกับแผนการลงทุนผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมา สศอ. ได้มีการหารือกับผู้ผลิตรถยนต์แล้วจำนวน 9 ราย ได้แก่ เอ็มจี, มิตซูบิชิ, อีซูซุ, โตโยต้า, นิสสัน, มาสด้า,ฟอร์ด,ซูซูกิ, ฮอนด้า ส่วนผู้ผลิตรถยนต์ที่เหลือจะทยอยเข้ามาหารือกับ สศอ. ในเร็วๆ นี้
ทั้งนี้จากการหารือผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายมีความเห็นเป็นไปในแนวทางเดียวกันว่า รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า อาทิ รถยนต์ไฮบริด (Hybrid Vehicles) รถยนต์ไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid Vehicles) รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles) และรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง(Fuel Cell Vehicles) ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น รถยนต์มีราคาแพง ประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในใช้งาน และตลาดยังมีความต้องการน้อยจึงไม่สามารถผลิตในระดับ Economy of Scale ได้ โดยข้อมูลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหมดนี้ สศอ.จะนำไปวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย และนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายกรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป
นายศิริรุจ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการส่งเสริมรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องเป็นการลงทุนแบบ Package คือ มีการลงทุนประกอบรถยนต์ และผลิตชิ้นส่วนหลัก เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า ควบคู่กันไป ซึ่งภาครัฐจะต้องพิจารณาแนวทางการส่งเสริมอย่างรอบคอบ เพื่อให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นต่อนโยบายส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย
นอกจากรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าจะมีข้อจำกัดดังกล่าวแล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญที่มีส่วนสนับสนุนให้การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าประสบความสำเร็จในประเทศไทย ได้แก่ การจัดเตรียมแหล่งพลังงานไฟฟ้าและระบบการจัดการส่งไฟฟ้าที่เหมาะสม สถานีชาร์จไฟด่วนและหัวชาร์จไฟฟ้าที่มีมาตรฐาน รวมทั้ง แนวทางการกำจัดซากแบตเตอรี่ที่ชัดเจนอีกด้วย
อย่างไรก็ตามขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ในระหว่างดำเนินการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับแผนการส่งเสริมการสร้างฐานการผลิตยานยนต์ในอนาคต รวมทั้งข้อเสนอของภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในอนาคต ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car) ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งประเด็นปัญหาต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจด้วย