กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จัดการสัมมนา "โครงการส่งเสริมการจัดเก็บฐานข้อมูลกลางของสินค้า" ในวันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2559 ณ ห้อง Meeting Room 1-2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยได้รับเกียรติจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ดร.อุตตม สาวนายน) กล่าวเปิดงาน และกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล" พร้อมทั้งวิทยากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนประสบการณ์
สำหรับการสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และเจ้าของสินค้า จัดเก็บข้อมูลสินค้าที่มีอยู่มากมายทั่วประเทศ ไว้ในฐานข้อมูลกลาง และให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศ รวมทั้งสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และเจ้าของสินค้า ต่อผู้บริโภค ให้เกิดการบูรณาการของข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่กลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการนำไปใช้ในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของธุรกิจและสามารถรองรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ตามหลักการสากลนั้น ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ในมุมภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุม การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การโลจิสติกส์ การภาษีอากร และการบริหารจัดการข้อมูลและเนื้อหา โดยหลักการที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้นั้น ภาครัฐจะมีบทบาทที่สำคัญเพื่อที่จะสามารถก้าวเดินไปพร้อมๆ กันกับภาคเอกชน ในการสร้างความสะดวก ส่งเสริม และสนับสนุน ซึ่งกันและกันทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้จัดทำแนวทางขับเคลื่อนโดยมีกรอบยุทธศาสตร์ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1)การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารดิจิทัล (Hard Infrastructure) 2)การสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล (Soft Infrastructure) 3)การส่งเสริมการสร้างบริการดิจิทัล (Service Infrastructure) 4)การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Economy Acceleration) 5)การพัฒนาสังคมดิจิทัล (Digital Society) และ 6)การพัฒนากำลังคนดิจิทัล (Digital Workforce) ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้มอบหมายให้สถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand)) ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการผลักดัน 3 เรื่องหลัก ดังนี้ 1)การจัดทำฐานข้อมูลกลางสินค้าแห่งชาติ เพื่อประโยชน์แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบซัพพลายเชนและผู้บริโภคในประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ ผู้ผลิตสามารถบันทึกข้อมูลสินค้าอย่าง ชื่อ รูปภาพ วิธีใช้งาน ข้อควรระวัง และ การรับรองคุณภาพของสินค้าต่างๆ ผู้ซื้อสินค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าด้วยการอ้างเลขหมายบาร์โค้ดแทนการพิมพ์ข้อมูลสินค้า ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบการรับรองคุณภาพสินค้า และผู้ให้บริการโลจิสติกส์สามารถใช้ข้อมูลสินค้าเพื่อการขนส่ง จัดเก็บ และตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
2)การสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานกลางแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Invoicing) ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและภาคอุตสาหกรรมค้าปลีก ตั้งแต่การออกใบซื้อสินค้าจนถึงใบแจ้งหนี้และใบกำกับภาษี เพื่อรองรับการค้าในยุคดิจิทัลผ่านการอ้างอิงเลขหมายบาร์โค้ดบนสินค้าและเลขหมายบ่งชี้ที่ตั้งสากล รองรับมาตรฐานกลางข้อความการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (National Payment Message Standard) การปรับเปลี่ยนไปใช้ใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งกำหนดโดยกรมสรรพากร และการรับ-ส่งข้อความผ่านระบบ National Single Window ของกรมศุลกากรในอนาคต 3)การทำระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าจากผู้บริโภคไปจนถึงแหล่งกำเนิดเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค การตรวจสอบย้อนกลับสินค้าถือเป็นอีกประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ภาครัฐในหลายประเทศได้ออกกฎหมายให้สินค้าโดยเฉพาะอาหารและยา ต้องมีข้อมูลที่สามารถอ้างถึงแหล่งที่มาของสินค้า ปรากฏบนบรรจุภัณฑ์ของตัวสินค้านั้นได้ เพื่อช่วยในการเรียกคืนสินค้าเฉพาะล็อตการผลิตที่มีปัญหาได้รวดเร็ว ช่วยลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภค
"การบรรจุข้อมูลที่สามารถอ้างถึงแหล่งที่มาของสินค้าจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าได้ เป็นการยกระดับการแข่งขันกับตลาดนานาประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดซัพพลายเชน ตั้งแต่ ผู้ผลิต ผู้ขนส่ง คลังสินค้า ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงผู้ค้าส่งค้าปลีก ต้องบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินค้าในแต่ละกระบวนการภายในความรับผิดชอบของตนเอาไว้ชัดเจนในระบบที่สามารถเข้าถึงได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเชื่อว่า ด้วยการขับเคลื่อนโครงการข้างต้นร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะช่วยยกระดับและเตรียมผู้ประกอบการไทยเศรษฐกิจดิจิทัลตามมาตรฐานสากลต่อไป" ดร.อุตตมฯ กล่าว
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการสถาบันรหัสสากล กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมฯ โดยสถาบันรหัสสากล เป็นนายทะเบียนในการกำหนดเลขหมายรหัสสินค้าตามมาตรฐานสากล GS1 Standard ได้นำแผนยุทธศาสตร์ในการสร้างฐานข้อมูลที่เป็นมาตรฐานกลางของสินค้า เพื่อผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และเจ้าของสินค้า สามารถบริหารจัดการข้อมูลสินค้าให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างถูกต้อง สร้างความมั่นใจและน่าเชื่อในตัวสินค้าแก่ผู้บริโภคได้มากขึ้น รวมถึงเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่กลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการนำข้อมูลสินค้าไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจและยังรองรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ และผลักดันแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy เป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จาก การขับเคลื่อนนโยบายอย่างต่อเนื่องหลายๆ ประการ อาทิ การเร่งยกร่างกฎหมายเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล การปรับโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดหน้าที่ การกำกับดูแลในแต่ละส่วน ให้ชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งการสร้างโครงข่าย Broadband แห่งชาติ เพื่อให้มีบริการอินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกพื้นที่ เป็นต้น
"เพื่อให้สามารถรองรับกับการพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจยุคสมัยใหม่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่ริเริ่มขึ้นเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และเจ้าของสินค้า เก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ต่อยอดในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีก ในอนาคต เช่น ระบบการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ เช่น E-Commerce E-Business ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลการให้มาตรฐานสินค้าของหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น โดยสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (CICOT) เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันได้อย่างมีแบบแผน สามารถนำไปใช้ได้ในหลายๆ ธุรกิจ ทั้งการซื้อขายสินค้าออนไลน์ การเปิดร้านขายสินค้า การขนส่ง เป็นต้น โดยการสัมมนานี้จะประกอบด้วย การบรรยายกระบวนการจัดเก็บข้อมูลสินค้าลงฐานข้อมูลสำหรับสมาชิก การเปิดร้านค้าออนไลน์บนเว็บ E-Commerce โดยผู้แทนจาก Amazon และการเสวนาพิเศษ เรื่องการใช้มาตรฐานข้อมูลสินค้า เพื่อสร้างโอกาสในการทำธุรกิจยุคดิจิทัล โดยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน" ประธาน ส.อ.ท. กล่าว..