กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
การเกษตรในประเทศไทยได้มีบันทึกเป็นหลักฐานไว้ในศิลาจารึกในสมัยสุโขทัย (เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 1800) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพ่อขุนรามคำแหง ทรงมีรัฐประศาสตร์โนบายส่งเสริมการเกษตรหลายประการ ที่สำคัญคือ การให้ประชาชนมีอิสระในการประกอบอาชีพตามความถนัด และที่ดินที่มีการปลูกสร้างทำประโยชน์ก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ปลูก สร้าง และให้เป็นมรดกตกทอดไปถึงยังลูกหลานในสมัยนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำสะอาดสำหรับบริโภคตลอดทั้งปี และเพียงพอสำหรับใช้ในการเกษตร มีการสันนิษฐานว่าพ่อขุนรามคำแหงทรงจัดการชลประทานช่วยเหลือการเพาะปลูก เช่น การขุดเหมืองฝายฝังท่อไขน้ำจากลำธารบนภูเขา มาสู่ตัวเมืองสุโขทัย และทรงสนับสนุนให้มีการปลูกป่าทำสวนโดยทั่วไป เช่น ทรงปลูกป่าตาลขึ้น และใช้ป่าตาลนั้นเป็นสถานที่ให้พระสงฆ์แสดงธรรมในวันธรรมสวนะ และเป็นที่เสด็จออกว่าราชการในวันปกติ อันเป็นพระบรมราโชบายที่จะอบรมพสกนิกรให้มีนิสัยรักป่า รักสวน และรักการปลูกสร้างไปด้วยในตัว
ย้อนรอยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ในปีพุทธศักราช 1893 หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านกิจกรรมทางการเกษตร เริ่มมีปรากฏชัดในสมัยกรุงศรีอยุธยา (เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 1893) นั่นคือ กรมนา ซึ่งเป็นกรมหนึ่งในการปกครองแบบจตุสดมภ์ ดังนั้นในประกาศและพระราชบัญญัติเก่า ๆ จึงมีเรียก กรมเกษตราธิการ กระทรวงนา กระทรวงเกษตราธิการ ซึ่งหมายถึงกรมนาในจตุสดมภ์นั่นเอง
ในต้นรัชกาลที่ 5 เป็นยุคของการเริ่มปรับปรุงส่วนราชการ และจัดตั้งกระทรวงต่าง ๆ ขึ้น เพื่อให้การดำเนินการไปสู่ความเจริญก้าวหน้า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับการปรับปรุงเป็นครั้งแรกในยุคนี้ โดยปรับปรุงจากกระทรวงเกษตราธิการ (กรมนา) เป็นกระทรวงเกษตรพนิชการ หลังจากนั้น ในปีพุทธศักราช 2441 มีการประกาศตั้งกรมเกษตรากรขึ้นเป็นกระทรวงเกษตราธิการ เช่นเดิมและย้ายกรมเกษตรากร กรมแผนที่ และกรมแร่กลับมาอยู่ในสังกัดตามเดิมด้วย
หลังจากนั้น กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคม ได้รวมเข้าเป็นกระทรวงเกษตรพาณิชยการ โดยย้ายกรมทะเบียนที่ดิน กรมรังวัดที่ดิน กรมป่าไม้ และกรมราชโลหกิจ จากกระทรวงเกษตราธิการไปขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย และต่อมาได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงเกษตรและกรม พ.ศ. 2476 และเปลี่ยนนามกระทรวงเกษตรพาณิชยการเป็นกระทรวงเศรษฐการ
ในปีพุทธศักราช 2478 กระทรวงเกษตราธิการ จัดตั้งขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2478 ซึ่งต่อมามีการแยกกรมเกษตร และการประมงออกเป็นกรมเกษตร และกรมประมง แยกกรมที่ดินและราชโลหกิจเป็นกรมที่ดิน โดยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนนามกระทรวงเกษตราธิการเป็นกระทรวงเกษตร พร้อมทั้งเปลี่ยนนามกรมเกษตรเป็นกรมกสิกรรม และกรมปศุสัตว์ และสัตว์พาหนะเป็นกรมการปศุสัตว์ ตลอดจนก่อตั้งกรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นอีกกรมหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้โอนไปอยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
วันที่ 1 ตุลาคม 2505 มีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 216 ให้ยุบกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติโดยโอนกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดิน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดิน มาอยู่ในสังกัดกระทรวงเกษตร และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์" ที่ใช้มาถึงปัจจุบัน ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้ มีการจัดตั้งกรมวิชาการเกษตรซึ่งรวมกรมกสิกรรม และกรมการข้าวเข้าด้วยกัน ตามนโยบายที่จะปรับปรุงระเบียบการบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการรวมหน่วยงานที่ปฏิบัติงานคล้ายคลึงกันเข้าเป็นกรมเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรในด้านการผลิตและการตลาดเป็นสำคัญ การจัดตั้งสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เพื่อกระจายที่ดินให้แก่เกษตรกร ผู้เช่าหรือผู้ไร้ที่ดินให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง หรือเป็นของสถาบันเกษตรกร รวมถึงกลุ่มสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ ด้วย เพื่อการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์ การจัดระบบการผลิต การจัดจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกร ซึ่งเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมให้กับเกษตรกร การจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ตามประกาศกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2545 ได้กำหนดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเกษตร การเศรษฐกิจการเกษตร การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การชลประทาน การประมง การปศุสัตว์ การป่าไม้ การพัฒนาที่ดิน และการสหกรณ์ ประกอบด้วยส่วนราชการ 14 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมชลประทาน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมป่าไม้ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ พร้อมทั้งรับผิดชอบรัฐวิสาหกิจอีก 7 แห่ง ได้แก่ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ องค์การสวนยาง สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง องค์การสะพานปลา องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย และบริษัท ไม้อัดไทย จำกัด
ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกา โอนกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปเป็นกรมป่าไม้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเกษตรกรรม การจัดหาแหล่งน้ำและพัฒนาระบบชลประทาน ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ส่งเสริมและพัฒนาระบบสหกรณ์ รวมตลอดทั้งกระบวนการผลิตและสินค้าเกษตรกรรม และราชการอื่นที่กฎหมายกำหนด ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วยส่วนราชการ 13 หน่วยงาน พร้อมทั้งรับผิดชอบรัฐวิสาหกิจอีก 5 แห่ง
ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ "เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความมั่นคงด้านอาหาร เป็นฐานสร้างรายได้ให้แผ่นดิน" โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานอย่างเหมาะสมและยั่งยืน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และมีมาตรฐานปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ส่งเสริมให้มีการจัดสรรทรัพยากรการผลิตทางการเกษตร และโครงสร้างพื้นฐานการเกษตรอย่างพอเพียง มีประสิทธิภาพยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้มีการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่เหมาะสม โดยมีส่วนราชการในสังกัด จำนวน 16 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมชลประทาน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมการข้าว กรมหม่อนไหม และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รัฐวิสาหกิจในสังกัด จำนวน 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย องค์การสะพานปลา องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และการยางแห่งประเทศไทย และองค์การมหาชนในสังกัด จำนวน 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาและวิจัยการเกษตร สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕9 นี้ ถือเป็นวันสำคัญยิ่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากปีนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีอายุครบ ๑๒4 ปี เป็น ๑๒4 ปีที่บ่งบอกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่มิใช่เฉพาะคนไทย แต่ยังก้าวสู่การเป็นครัวของโลกด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีบทบาทอย่างยิ่งต่องานด้านเกษตรกรรมของประเทศ มีภาระหน้าที่รับผิดชอบต่อความอยู่รอดของเกษตรกร ขณะเดียวกันก็มีภารกิจที่ต้องรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ของคนทั้งโลกในด้านอาหารที่หล่อเลี้ยงประชากร รวมถึงเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศด้วย