กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รัฐมนตรีเกษตรฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และผลไม้จ.จันทบุรี พร้อมประเมินภัยแล้งกระทบปริมาณผลไม้ภาคตะวันออกลด 10% ย้ำเกษตรกรไม่เน้นปริมาณหันปรับคุณภาพเพื่อดันราคาเพิ่ม มีเป้าหมายตลาดที่ชัดเจน ดึงแนวทางการจัดการผลไม้ในรูปแบบประชารัฐให้เอกชนมีการเจรจาซื้อขายล่วงหน้า
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยจากการลงพื้นที่ เปิดเผยในโอกาสลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และผลไม้จังหวัดจันทบุรี ว่า การแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีในภาพรวมถือว่าสามารถแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนและเกษตรกรได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่ทางจังหวัดได้ร้องขอเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้งในปีต่อๆไป คือ แหล่งเก็บกักน้ำ ไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งจะนำไปหารรือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป
ส่วนผลกระทบของสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณไม้ผลไม้ภาคตะวันออก คาดว่าผลผลิตจะลดลงประมาณ 10 % ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะมีการประเมินปริมาณผลไม้ภาคตะวันออกอีกครั้งในวันที่ 4 เมษายนนี้ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง รวม 4 ชนิด ของ 3 จังหวัด (จันทบุรี ตราด และระยอง) ปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มลดลงเกือบทุกชนิด (ยกเว้น ลองกอง)
ทั้งนี้ การกระจายตัวผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนตุลาคม โดยจะออกกระจุกตัวสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2559 โดยแบ่งได้ดังนี้ ทุเรียน ผลผลิตมีแนวโน้มลดลง เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธุ์ ถึงต้นเดือนกรกฎาคม มังคุด ผลผลิตมีแนวโน้มลดลง เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ถึงกรกฎาคม เงาะ ปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มลดลงเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงต้นสิงหาคม แต่ลองกอง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเมษายน-ต้นตุลาคม
พลเอกฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ในปีนี้ เน้นการปรับสมดุล Demand และ Supply โดยใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์และวางแผนการผลิตและการตลาดเพื่อเตรียมการป้องกันแก้ไขปัญหาผลไม้ และยังต้องส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพดี ซึ่งเจ้าหน้าที่เกษตรจะต้องช่วยเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพผลผลิต โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต เช่น การตัดแต่งช่อดอกช่อผล ป้องกันกำจัดศัตรูพืช เก็บเกี่ยว คัดแยกและปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวที่ถูกวิธีเพื่อรักษาคุณภาพและคงความสดของผล และจะต้องส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้รวมกลุ่มเพื่อผลิตไม้ผลในลักษณะแปลงใหญ่
นอกจากนี้ยังจะต้องบริหารจัดการผลผลิตเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาช่วงผลไม้ออกสู่ตลาด โดยการ ปรับสมดุล ระหว่างปริมาณผลผลิต และตลาด ให้สอดคล้องกัน โดยนำแผนที่มาวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และมีมาตรการต่างๆ อาทิ การป้องปรามผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด โดยให้ออกประกาศและใช้บทลงโทษ กรณีพบผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง สนับสนุนการกระจายผลผลิต ให้การกระจายผลิตผลออกนอกพื้นที่มีความคล่องตัว มากขึ้น โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันบูรณาการ ส่งเสริมการแปรรูป เพิ่มช่องทางการตลาด และ สร้างรายได้ให้มากขึ้น ผลักดันให้มีการส่งออก ทั้งผลผลิตสดและแปรรูปไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการบริโภคและประชาสัมพันธ์ทั้งภายในและต่างประเทศ โดยขยายตลาดเดิมและเพิ่มตลาดใหม่
ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้องเข้ามาช่วยบูรณาการในการทำงาน เพื่อให้ผลไม้ไทยเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติ