กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโรงงานอุตสาหกรรมที่นำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ตลอดจนเผยมาตรการคุมเข้มระบบตรวจสอบมลพิษทางระยะไกล OPMS (Online Pollution Monitoring Systems) ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกันนี้ กรมโรงงานฯ ได้เผยนโยบาย 3Rs เพื่อรณรงค์ให้โรงงานอุตสาหกรรมประหยัดการใช้น้ำ ป้องกันขาดแคลนน้ำในอนาคต สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ กลุ่มเทคโนโลยีน้ำอุตสาหกรรม สำนักเทคโนโลยีน้ำและสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 02 202 4163 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th หรืออีเมล์ pr@diw.mail.go.th
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า หลังจากกรมโรงงานฯ ได้มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถปันน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมไปใช้ในภาคการเกษตรได้ ซึ่งโรงงานที่สามารถปล่อยน้ำทิ้งได้ต้องมีน้ำทิ้งเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เพื่อบรรเทาภัยแล้งได้ และต้องเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับอาหารซึ่งปัจจุบันมีโรงงานขอร่วมโครงการจำนวน 13 โรงงาน ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดตาก ลำปาง กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อุดรธานี ร้อยเอ็ด เลย หนองคาย ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปแป้งมันสำปะหลัง น้ำตาล เครื่องปรุงรส พืช และผลไม้ ฯลฯ ที่ผ่านเกณฑ์และเงื่อนไขตามประกาศฯ ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณน้ำทิ้งช่วยเกษตรกร 68,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ดร.พสุ กล่าวต่อว่า กรมโรงงานฯ มีระบบตรวจสอบมลพิษระยะไกล (Online Pollution Monitoring Systems : OPMS) เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ โดยระบบฯ จะส่งผลตรวจค่าปริมาณการปล่อยน้ำทิ้งต่อวัน ค่าปริมาณความสกปรกของน้ำทิ้ง และค่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าในระบบบำบัดน้ำเสีย เข้าสู่ศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมแบบออนไลน์ โดยกำชับให้มีการรายงานค่าคุณภาพน้ำระบายออกนอกโรงงานทุกๆ 30 นาที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำที่ปล่อยจากโรงงานจะไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำธรรมชาติและปลอดภัยในการนำไปใช้ประโยชน์ โดยต้องมีค่ามาตรฐานที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด อาทิ ความเป็นกรดและด่าง (pH) ไม่น้อยกว่า 5.5 และไม่มากกว่า 9.0 สารแขวนลอย ไม่มากกว่า 50 มิลลิกรัมต่อลิตร มีค่าความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็นต้น
ดร.พสุ ยังเผยอีกว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมที่มีใช้น้ำมาก ส่วนใหญ่อยู่ใน 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ 2.อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 3.อุตสาหกรรมฟอกย้อม 4.อุตสาหกรรมแป้งมัน และ 5.อุตสาหกรรมฆ่าสัตว์ ซึ่งกรมโรงงานฯ ได้มีนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงงานใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการบริหารจัดการน้ำตามหลักการ 3 Rs (Reduce Reuse Recycle) คือ ลดการใช้ ใช้ซ้ำ และนำมาใช้ใหม่ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคต ผ่านโครงการศึกษาศักยภาพในการลดปริมาณน้ำในโรงงานอุตสาหกรรม
ด้าน นายศุภเดช จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการทั่วไปสายงานผลิต บริษัท กรีนสปอต จำกัด กล่าวว่า บริษัท กรีน สปอต จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมาเป็นระยะเวลากว่า 60 ปี ซึ่งอุตสาหกรรมประเภทเครื่องดื่มต้องใช้น้ำในปริมาณมากในกระบวนการผลิตสูงถึง 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โรงงานจึงตระหนักถึงความจำเป็นในการประหยัดน้ำในกระบวนการผลิต จึงได้นำแนวทาง 3R (Reduce Reused Recycle) มาใช้ในกระบวนการผลิต โดยได้รับการส่งเสริมจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งไฟฟ้า ไอน้ำ (หรือก๊าซธรรมชาติ) น้ำ และสารเคมี มาตั้งแต่ปี 2546 อีกทั้งยังได้นำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม หรือ ISO 14001 มาใช้บริหารจัดการเพื่อช่วยลดต้นทุนและลดโอกาสเกิดมลพิษในระยะยาวจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ โรงงานได้นำหลักการของระบบการผลิตแบบลีน (Lean Manufacturing) มาใช้ลดความสูญเปล่า (Waste)
นายศุภเดช กล่าวต่อว่า จากระยะเวลากว่า 10 ปีที่ได้นำหลักการดังกล่าวมาใช้ ส่งผลให้โรงงานกรีนสปอตสามารถลดการใช้ทรัพยากรได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะลดการใช้น้ำ จากอดีตที่โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ 1 ลิตร ต้องใช้น้ำมากกว่า 13 ลิตร แต่ปัจจุบันโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ 1 ลิตร ใช้น้ำเพียง 6-7 ลิตรเท่านั้น ซึ่งอนาคตบริษัทฯ ตั้งเป้าที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ 1 ลิตร โดยใช้น้ำเพียง 4 ลิตร อย่างไรก็ตาม สำหรับน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตของโรงงาน ซึ่งมีการปล่อยสู่คลองรังสิตประมาณ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน บริษัทฯ จึงเข้าร่วมสนับสนุนตามประกาศกระทรวงฯ ในการนำน้ำทิ้งไปใช้ประโยชน์ในช่วงภัยแล้ง เพื่อช่วยให้คลองมีน้ำเพิ่มขึ้นและชุมชนสามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีนโยบายการสนับสนุนนำน้ำทิ้งไปใช้ประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่น โดยให้น้ำแก่เทศบาลนครรังสิตเพื่อไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของเทศบาลนครรังสิต อาทิ รดน้ำต้นไม้ริมถนนและในชุมชน และไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ที่จำเป็น แทนการใช้น้ำประปาลดต้นไม้ซึ่งจะเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรน้ำได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ หากหน่วยงาน ชุมชน หรือประชาชนที่ประสงค์จะขอรับน้ำทิ้งที่ได้มาตรฐานของโรงงาน กรีนสปอตรังสิต สามารถติดต่อผ่านสำนักงานเทศบาลนครรังสิต โทร. 0 2567 6000-6 หรือบริษัท กรีนสปอต จำกัด (โรงงานรังสิต) โทร .0 2533 0280
อย่างไรก็ตาม กรมโรงงานฯ ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำทิ้งสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ บริษัท กรีนสปอต จำกัด (โรงงานรังสิต) สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดการใช้น้ำในโรงงาน สอบถามได้ที่ กลุ่มเทคโนโลยีน้ำอุตสาหกรรม สำนักเทคโนโลยีน้ำและสิ่งแวดล้อมโรงงาน โทร. 0 2202 4163 หรือ กลุ่มประชาสัมพันธ์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม โทร. 0 2202 4014 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th หรืออีเมล์ pr@diw.mail.go.th