SUPER POLL ผลจัดอันดับแหล่งข่าวการเมืองของคนไทยทั่วประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday April 4, 2016 13:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง จัดอันดับพฤติกรรมการใช้แหล่งข่าวการเมืองของประชาชนทั่วประเทศ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 จังหวัด ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน เปิดสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) และเปิดเว็บไซต์ในต่างประเทศรองรับการเข้าถึงข้อมูลผลวิจัยต่างๆ ที่ www.superpollthailand.net และเปิดเผยผลวิจัยจัดอันดับพฤติกรรมการใช้แหล่งข่าวการเมืองของประชาชนทั่วประเทศ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา มุกดาหาร ขอนแก่น อุดรธานี ปทุมธานี ลพบุรี นครปฐม ชลบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา และนราธิวาส จำนวนทั้งสิ้น 5,039 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 มีนาคม – 1 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา พบว่า เมื่อถามถึงแหล่งข่าวการเมืองที่ประชาชนใช้ติดตามมากที่สุดในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.7 ไม่ใช้อินเตอร์เนต แต่ใช้แหล่งข่าวแบบดั้งเดิมมากที่สุด ได้แก่ ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ ในขณะที่ ร้อยละ 30.3 ใช้อินเตอร์เนต โดยในกลุ่มที่ใช้อินเตอร์เนตติดตามข่าวการเมืองผ่านทาง เฟซบุค มากที่สุด อันดับแรก ได้ร้อยละ 44.2 อันดับสองคือ ไทยรัฐออนไลน์ ได้ร้อยละ 9.7 และอันดับสามคือ กูเกิล ได้ร้อยละ 9.6 ผลการจัดอันดับ หนังสือพิมพ์แหล่งข่าวการเมืองที่ใช้ติดตามมากที่สุดในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า อันดับหนึ่งหรือร้อยละ 56.2 ได้แก่ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ อันดับสองหรือร้อยละ 22.4 ได้แก่ เดลินิวส์ และอันดับสามหรือร้อยละ 15.2 ได้แก่ มติชน ข่าวสด และเมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่า คนกรุงเทพฯ ติดตามข่าวการเมืองผ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มากกว่า คนภาคอื่นๆ คือ คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 63.0 คนภาคเหนือร้อยละ 54.8 คนภาคกลางร้อยละ 52.5 คนภาคอีสานร้อยละ 53.5 และคนภาคใต้ร้อยละ 57.0 ติดตามข่าวการเมืองผ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่น่าพิจารณาคือ คนภาคใต้อ่านหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ มากกว่า คนภาคอื่นๆ คือ คนภาคใต้ร้อยละ 27.3 คนภาคเหนือร้อยละ 24.1 คนภาคอีสานร้อยละ 23.3 คนภาคกลางร้อยละ 19.5 คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 18.6 ติดตามข่าวการเมืองผ่านหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ตามลำดับ ที่น่าสนใจคือ คนกรุงเทพฯ ดูช่อง 3 คนภาคใต้ ดูช่อง 7 ในการติดตามข่าวการเมือง โดยพบว่า คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 61.9 ดูทีวีช่อง 3 เพื่อติดตามข่าวการเมือง มากกว่าภาคอื่นๆ ในขณะที่คนภาคใต้ร้อยละ 41.2 ดูช่อง 7 มากกว่าภาคอื่นๆ ดร.นพดล กรรณิกา โทร. 062.776.8959 ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล โทร 02.308.0444 หรือ 02.308.0448 หรือ 02.308.0191 www.superpollthailand.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ