กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์
อีกไม่นานจะถึงเทศกาลสงกรานต์ที่ทุกคนรอคอย ถึงปีนี้ไทยจะประสบภัยแล้งหนักจนรัฐบาลต้องออกมาขอความร่วมมือประชาชนให้เล่นน้ำคลายร้อนกันอย่างประหยัด ทำให้บรรยากาศความคึกคักของเทศกาลปีนี้อาจไม่เต็มที่เหมือนทุกปี แต่อย่าลืมว่าในความสนุกยังมีภัยร้ายด้านสุขภาพที่แฝงมาด้วยเสมอ
ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา หัวหน้าคณะนักวิจัย Operation BIM นักวิทยาศาสตร์ไทยคนแรกผู้คิดค้นวิธีการดูแลสุขภาพด้วยการสร้างภูมิสมดุล (Balancing Immunity) ระบุว่า วิธีรับมือกับโรคภัยที่ดีที่สุดในช่วงสงกรานต์นี้คือ การดูแลตัวเองให้แข็งแรงด้วยการสร้างภูมิคุ้มร่างกายให้อยู่ในสภาวะสมดุล เพื่อเป็นเกราะป้องกันการรุกรานของเชื้อโรคต่างๆ ที่อาจเข้ามา เพราะการเล่นน้ำท่ามกลางผู้คนมากมาย เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าน้ำที่นำมาสาดกันมีที่มาอย่างไร สะอาดหรือไม่ จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งอวัยวะที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายที่สุดคือ ดวงตา ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส รา ที่สามารถติดเชื้อได้ตั้งแต่บริเวณเปลือกตา เยื่อบุตา และกระจกตา ทำให้เกิดการอักเสบ หากรุนแรงอาจถึงขั้นตาบอดได้
ทั้งนี้ โรคที่พบบ่อยในช่วงเทศกาลสงกรานต์สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1) โรคระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อยคือ อาการไข้ น้ำมูกไหล เป็นหวัด ไข้หวัดใหญ่ เพราะร่างกายปรับสภาพไม่ทันกับอุณหภูมิที่เปลี่ยนสลับไปมาระหว่างอากาศที่ร้อนอบอ้าวและน้ำเย็นที่สาดใส่กัน ทำให้ร่างกายเปียกชื้นเป็นเวลานาน หรือโรคปอดบวมซึ่งอาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดหรือการติดเชื้อโรค
2) โรคติดต่อในฤดูร้อน เช่น โรคตาแดงจากการเล่นน้ำไม่สะอาดที่อาจมีเชื้อโรคแฝงอยู่และยังพบมากในช่วงหน้าฝนซึ่งเชื้อจะใช้เวลาฟักตัว 1-2 วันก่อนแสดงอาการ โรคติดต่อจากการรับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะตามแหล่งท่องเที่ยวหรือสำลักน้ำปนเปื้อนเชื้อโรคและปรสิต อาทิ โรคอุจจาระร่วง โรคสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
3) โรคที่เกิดจากสภาพอากาศร้อนอบอ้าว เช่น โรคลมแดดหรือฮีทสโตรกที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย การเล่นน้ำในที่โล่งแจ้งที่มีแสงแดดจัดอาจส่งผลให้ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส (อุณหภูมิร่างกายปกติอยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส) ทำให้สมองไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายได้อาการทั่วไปคือ ตัวร้อนจัด ผิวหนังแห้ง ไม่มีเหงื่อออก มีอาการผิดปกติทางประสาท เช่น เดินเซ กระสับกระส่าย หมดสติ ชีพจรเต้นเร็ว ช็อก หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลาอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ เวลาออกไปเล่นน้ำจึงควรพกน้ำดื่มสะอาดติดตัวไว้ดื่มดับกระหาย เพื่อร่างกายจะได้ไม่ขาดน้ำ
ที่กล่าวมายังไม่รวมถึงอันตรายจากการดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากสุราจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุอันดับต้นๆ ในช่วงสงกรานต์แล้วการดื่มสุราสังสรรค์ไม่ว่าจะดื่มโดยใส่น้ำแข็งหรือไม่ในช่วงกลางวันที่มีอากาศร้อนอบอ้าวมีความเสี่ยงเกิดอาการช็อกจนเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ เกี่ยวกับวิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้สมดุลเพื่อป้องกัน 3 กลุ่มโรคอันตรายข้างต้นนั้น ข้อมูลจากคณะนักวิจัย Operation BIM ร่วมกับศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ศูนย์ฮอตไลน์ โทร.1154) ระบุว่า เม็ดเลือดขาวกลุ่ม T Helper Cell โดยเฉพาะ Th1 และ Th17 มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อสู้กับโรคได้ โดยเม็ดเลือดขาวกลุ่มนี้จะทำหน้าที่เสมือนเป็นกองทหารสื่อสาร ทันทีที่ตรวจพบสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคในร่างกาย จะส่งสัญญาณกระตุ้นให้เหล่าเม็ดเลือดขาวเพชฌฆาตตรงเข้าจัดการกับผู้บุกรุกทันที จากการศึกษาวิจัยได้ค้นพบว่าสารสกัดที่ได้จากพืช 5 ชนิด ได้แก่ มังคุด ฝรั่ง งาดำ ถั่วเหลือง และบัวบก มีคุณสมบัติโดดเด่นในการกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวกลุ่มนี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการต่อกรกับเชื้อโรคร้ายและทำให้ร่างกายแข็งแรง นอกเหนือไปจากวิธีเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ นอนหลับให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
"อย่างไรก็ตาม ในช่วงสงกรานต์นี้ พ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เล่นน้ำกันอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น ใช้น้ำที่สะอาด ระวังตนเองไม่ให้สำลักน้ำและไม่ควรสวมเสื้อผ้าเปียกชื้นนานๆ กรณีโดนสาดด้วยน้ำไม่สะอาด ต้องอาบน้ำชำระร่างกายด้วยสบู่ให้สะอาด เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคให้มากที่สุด" ศ.ดร.พิเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย