กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
10 ชุด และ 1 ชุดฟินาเล่ ผลงาน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาออกแบบแฟชั่นศิลปะสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี อวดผลงานบนเวที "การเดินแบบผ้าไทยการกุศล" งานกาชาด และของดีเมืองปทุมธานี ประจำปีการศึกษา 2559
นายสุระจิตต์ แก่นพิมพ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ เล่าว่า ในการออกแบบชุดผ้าไทยร่วมสมัย จำนวน 10 ชุด และชุดฟินาเล่ ในครั้งนี้ สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ผลงานการออกแบบของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ โดยแบ่งออกเป็น 3 Concept ได้แก่ Concept 1 ความสวยงามของลายน้ำไหล Concept 2 การพัฒนาลายผ้าไหมมัดหมี่ Concept 3 MORN Collection ซึ่งทั้ง 3 แนวคิด นำเอาเอกลักษณ์ของลวดลายมาออกแบบให้ทันสมัยเข้ากับยุคสมัย โดยกระบวนการเรียนการสอนของสาขาการออกแบบแฟชั่นให้เข้ากับยุคสมัย และสามารถนำไปใช้ได้จริง
"โอโจ้" นายฐิติกร หอมหวล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ประธานโครงการการออกแบบ ออกแบบชุดผ้าไทยร่วมสมัย จำนวน 10 ชุด และชุดฟินาเล่ ในครั้งนี้ เล่าว่า ได้รับแรงบันดาลใจและแบ่งออกเป็น 3 Concept ได้แก่ Concept 1ความสวยงามของลายน้ำไหล ซึ่งเป็นลวดลายการทอผ้าที่มีชื่อเสียงมากจากจังหวัดน่าน โดยใช้เทคนิคการสร้างลวดลายผ้าขึ้นใหม่ให้ทันสมัยผสมผสานกับเทคนิคการเดินเส้นด้าย เพื่อออกแบบเสื้อผ้าแนวสตรีทแวร์ ที่สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน Concept 2 การพัฒนาลายผ้าไหมมัดหมี่ โดยการนำลายเดิมมาผสมผสานจนเกิดเป็นลวดลายใหม่ และได้นำลวดลายของไก่ฟ้าเข้ามาช่วยในการออกแบบ จึงเกิดลวดลายแปลกใหม่ และดูทันสมัย ผนวกกับเทคนิคการปริ้นสกรีน เกิดเป็นเสื้อผ้าแนวสร้างสรรค์ที่สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน Concept 3 MORN Collection จากคำขวัญของจังหวัดปทุมธานี ถิ่นเมืองหลวง เมืองรวงข้าว เชื้อชาวมอญ นครธรรมมะ พระตำหนักรวมใจ สดใสเจ้าพระยา ก้าวหน้าอุตสาหกรรม คำว่า "เชื้อชาวมอญ" ถูกนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบในครั้งนี้ โดยนำเครื่องแต่งกายของชาวมอญมาตีความใหม่ในรูปแบบของเสื้อผ้าสุภาพสตรีที่มีความเรียบ เท่ เซ็กซี่และแฝงไปด้วยความหรูหรา โดยผ่านเทคนิคการปักกระจก อะครีบิค รวมไปถึงหลอดแก้ว เพื่อจำลองลวดลายผ้าขึ้นมาจากการปัก ทำให้เกิดมุมมองที่สวยงาม
ทางด้าน "แอนดิว" นายธีรโรจน์ มีแป้น นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เล่าเพิ่มเติมว่า ในการโชว์ผลงานในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งเวทีที่ท้าทายมาก เนื่องจากจะช่วยการออกแบบและตัดเย็บ โดยนำแนวคิดของเพื่อนๆ ภายในห้อง มาปรึกษาหาความเหมาะสมของเสื้อผ้า ด้วยความคิดและเทคนิคที่แตกต่างกัน แต่ด้วยมีการกำหนดแนวคิดที่ชัดเจนจึงทำให้ชุดทั้ง 10 ชุด และ 1 ชุดฟินาเล่ ออกมาด้วยความลงตัว ในการออกแบบชุดผ้าไทยร่วมสมัย นำเอาความทันสมัยในยุคมาออกแบบผ้าไทย ให้สามารถนำมาสวมใส่ได้จริง "เปลี่ยนความคิดที่ว่าผ้าไทยจะสวมใส่ในโอกาสที่พิเศษต่างๆ" ด้วยลวดลายของผ้าไทยที่มีความเฉพาะและความเป็นเอกลักษณ์ ชุดที่ออกแบบจึงดูสง่า และสวยงาม
ไอเดียการออกแบบที่ลงตัว ระหว่างผ้าไทย และสมัยนิยมที่เปลี่ยนไป สามารถสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน ตอบโจทย์คนรักผ้าไทย โดยลวดลาย เนื้อผ้า ความสวยงาม ล้วนเป็นอัตลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นไทย