กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
โดย พญ.ศาธิณี ลิมปิสุข
แพทย์เวชศาสตร์ทั่วไป รพ.กรุงเทพ
โรคหวัด เป็นโรคที่คุ้นเคยของเรามานานแล้ว โดยปกติโรคหวัดทางการแพทย์นั้น หมายถึงคนไข้มีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน คือ ส่วนอยู่เหนือเส้นเสียงในหลอดลมขึ้นมา จนถึงช่องคอและจมูก ซึ่งสามารถแบ่งอาการไล่ตามอวัยวะที่เกี่ยวข้อง เช่น ในจมูก จะมีน้ำมูก คัดจมูก แสบจมูก จาม ในคอ จะมีเจ็บคอคันคอ, ระคายคอ, ไอ, คอแดง, ต่อมทอนซิลโต แดง เป็นหนองและในหลอดลมส่วนต้น มีเสมหะ เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน โดยอาจมีอาการร่วมอื่นๆนอกเหนือจากอาการของทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ปวดเมื่อย ครั่นเนื้อครั่นตัว คลื่นไส้ ปวดหัว มึนหัว ปวดตัว เบื่ออาหาร ท้องเสีย หรือมีผื่นก็ยังเป็นได้
พญ. ศาธิณี ลิมปิสุข แพทย์เวชศาสตร์ทั่วไป โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่าเมื่อเป็น "หวัด" แต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันอาจมีแค่เพียงบางอาการ แต่สาเหตุการเกิดโรคหวัดมาจากสาเหตุเดียวกัน คือ การติดเชื้อ ใน ทางเดินหายใจส่วนบน ดังนั้นเมื่อเป็นหวัด สิ่งที่ต้องทำก็คือ สังเกตตัวเองว่า "หวัด" ในครั้งนี้ เป็นหวัดไวรัส หรือหวัดแบคทีเรีย เพราะมีการรักษาที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่พบว่ามักจะเป็นหวัดไวรัส คือ มีอาการเจ็บๆคอนิดหน่อย มีน้ำมูกนิดหน่อย ไอจามนิดหน่อย เพลียๆนิดหน่อย 2-3 วัน ก็หายเองได้ เพียงแค่พักผ่อนให้เพียงพอ บางทีเรายังไม่ทันสังเกตตัวเองด้วยซ้ำว่าเป็นหวัด มึนๆทานยาพาราครั้งนึงก็หาย ไม่ต้องมาพบแพทย์ และถ้าจำที่เคยเรียนตอนเด็กๆ ได้ ครูจะบอกว่า หวัดเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสในอากาศ ไม่มียารักษาโดยตรง(เพราะไวรัสส่วนใหญ่ไม่มียาฆ่าเชื้อ) ใช้ยารักษาตามอาการ และรอให้หายเอง ซึ่งอาจมีมากถึง 70-80% ของจำนวนคนที่เป็นหวัดด้วยซ้ำ แต่หวัดที่อาการค่อนข้างหนักจนเป็นปัญหาให้ต้องมาหาหมอ ให้ลองสังเกตดูว่าเราเป็นหวัดจากการติดเชื้อไวรัส หรือติดเชื้อแบคทีเรีย ดังนี้
1. สังเกตอาการตนเอง ว่าเป็นหวัดไวรัสหรือหวัดแบคทีเรีย ด้วยการสังเกตสีของน้ำมูกและเสมหะ ถ้าเป็นหวัดแบคทีเรีย น้ำมูกหรือเสมหะจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว เพราะเวลาเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นทหารไว้ป้องกันศัตรูในร่างกายของเรามาต่อสู้กับแบคทีเรียที่เป็นเชื้อโรค จะทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ในเม็ดเลือดขาวที่ทำให้เกิดสีเหลืองสีเขียว ดังนั้นเมื่อเสมหะเปลี่ยนสี จากใสหรือสีขาว เป็นสีเหลืองสีเขียว บางครั้งเป็นสีน้ำตาลหรือมีปนเลือดบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นหวัดแบคทีเรียที่ต้องทานยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (antibiotic หรือยาปฏิชีวนะ)
2. ให้อ้าปากส่องดูในคอเหมือนเวลาไปหาหมอ เราต้องรู้ว่าหมออยากดูอะไรในคอของเรา เราก็ส่องดูเองก่อนได้ โดยใช้ไฟฉายส่องดูคอในกระจก ถ้าเป็นไปได้ให้ใช้แสงขาว เช่น เปิดไฟฉายจากโทรศัพท์ก็ได้ สิ่งสำคัญคือ เวลาอ้าปาก ต้องอ้าเพื่อให้เห็น"หลังคอ" โดยอ้าปากให้กว้างที่สุด แล้วสูดหายใจ"เข้า" ทาง "ปาก" ลิ้นจะต่ำลง ลิ้นไก่จะยกตัวขึ้น เปิดให้เห็นหลังคอ ไม่ต้องแลบลิ้นหรือกระดกลิ้น ไม่ต้องเกร็งลิ้น เพราะลิ้นจะยิ่งบังคอ ทำให้มองไม่เห็น จนหมอต้องเอาไม้กดลิ้นมากดลิ้นลง บางคนก็เกร็งลิ้นต้านหมอยิ่งทำให้มองไม่เห็น นอกจากบางคนลิ้นใหญ่จริงๆอาจจะทำยังไงก็ไม่เห็น เมื่ออ้าปากเปิดคอเป็นแล้ว สิ่งที่ให้สังเกตคือ เราจะหาหลักฐานของการติดเชื้อแบคทีเรียเพื่อพิจารณาการใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ให้ดูว่าคอแดงหรือไม่ มีต่อมทอนซิลที่อยู่ด้านข้าง 2 ข้างซ้ายขวาโตหรือไม่ บวมแดงเป็นหนองหรือไม่ ลิ้นไก่บวมแดงดูอักเสบหรือไม่ ถ้าคอดูค่อนข้างปกติ แดงนิดหน่อย ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นแบคทีเรียหรือไวรัส แต่ถ้าคอแดงมาก มีหนอง ลิ้นไก่บวมแดง ต่อมทอนซิลโตบวมแดงเป็นหนอง น่าจะเป็นแบคทีเรีย ซึ่งถ้าไม่ได้ทานยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย อาจจะหายหวัดด้วยตัวเองยากหรือค่อนข้างช้า
3. สังเกตอาการของการเป็นไข้หวัดใหญ่ (influenza) เชื้อไข้หวัดใหญ่เป็นเชื้อไวรัส เป็นข้อยกเว้นของหวัดไวรัสชนิดเดียวที่มียาฆ่าเชื้อโดยตรงคือ ยา oseltamivir หรือที่รู้จักกันในชื่อยี่ห้อยา Tamiflu หรือขององค์การเภสัชฯคือ GPO-virการติดเชื้อไวรัส
มีลักษณะเด่นคือ จะมีอาการหลายๆ ระบบนอกเหนือไปจากอาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย (ระบบทางเดินอาหาร) ปวดตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ (ระบบกล้ามเนื้อกระดูกและข้อ) ตาแดง ผื่น (ระบบผิวหนัง) ฯลฯ เรียกรวมๆว่า viral syndrome คืออาการของการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อไวรัสมีหลายชนิด ทั้งไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัดทั่วๆไป ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสเดงกี่ที่ก่อโรคไข้เลือดออก ไวรัสตับอักเสบ จนกระทั่งไวรัส HIV ที่ก่อโรคเอดส์
ในตอนเริ่มต้นจะแสดงอาการของการติดเชื้อไวรัสเหมือนๆ กัน ทำให้บางครั้งแยกไม่ออกว่าเป็นโรคอะไร จนกว่าอาการอื่นที่ชัดเจนของโรคนั้นๆจะปรากฏขึ้น เช่น ถ้ามีอาการของการติดเชื้อไวรัส คือ "คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดตัว" ร่วมกับอาการหวัดและเป็นค่อนข้างหนักให้สงสัย "ไข้หวัดใหญ่" ถ้ามีอาการของไวรัสร่วมกับไข้สูงลอยร่วมกับประวัติโดนยุงลายกัดนึกถึงไข้เลือดออก ถ้ามีอาการของไวรัสร่วมกับตัวเหลืองตาเหลืองนึกถึงไวรัสตับอักเสบ ถ้ามีอาการของไวรัสแล้วหายไปเอง พอนานๆไป เริ่มมีภูมิต่ำติดเชื้อง่าย จนหมอสงสัย HIV แล้วตรวจเจอ อาจจะย้อนมานึกออกว่าหลังไปรับความเสี่ยงของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มา มีอาการคล้ายๆหวัด มีผื่น คล้ายๆจะเป็นติดเชื้อไวรัส พอหายไปเองก็เลยไม่ได้สนใจ นั่นอาจจะเป็นอาการแสดงของการติดเชื้อเอชไอวีระยะเฉียบพลันก็เป็นได้ แล้วก็แพร่เชื้อต่อให้คนอื่นมาเรื่อยๆจนกว่าจะแสดงอาการจนรู้ตัวว่าเป็นเอดส์ ซึ่งถ้าเราป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่สำส่อน ก็ไม่ต้องกังวล เพราะไม่ได้ติดต่อกันง่ายๆ
ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่าทำไมไปหาหมอครั้งแรกหมอบอกไม่เป็นไร พอไปตรวจอีกทีเป็นไข้เลือดออกเป็นโรคนั้นโรคนี้ มันเป็นเพราะเหตุนี้ ซึ่งเราก็ต้องสังเกตตนเองว่ามีอาการอื่นอะไรร่วมด้วยอีกบ้าง เมื่อรู้แล้วว่าเป็น "หวัด" ขั้นตอนต่อไปคือการรักษา สำหรับยาที่ใช้ในการรักษาโรคหวัด แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ยาฆ่าเชื้อ กับยาที่ใช้รักษาตามอาการ ยาฆ่าเชื้อ คนไทยชอบเรียกว่า "ยาแก้อักเสบ" ยาแก้อักเสบในความหมายของคนไทยมี 2 อย่าง คือ ยาแก้อักเสบฆ่าเชื้อ (antibiotic หรือยาปฏิชีวนะ) กับยาแก้อักเสบแก้ปวด (NSIADs) แต่พอมาเรียกชื่อซ้ำกันว่ายาแก้อักเสบ ก็ทำให้งงไม่รู้กลไกของยาว่ากินไปเพื่ออะไร คิดว่าเป็นยาแก้อักเสบแก้เจ็บคอ เลยกินบ้างไม่กินบ้าง วันละมื้อสองมื้อ วันสองวันแล้วก็เลิกกิน ซึ่งไม่ควรทำ โดยยาฆ่าเชื้อสำหรับรักษาโรคหวัด มี 2 อย่าง คือ ยาฆ่าเชื้อไวรัส กับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่ยาฆ่าเชื้อไวรัส มีชนิดเดียว คือ ยาฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ (oseltamivir หรือ Tamiflu) ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย มีมากมายหลายกลุ่ม หลักๆที่ใช้คือ กลุ่มเพนนิซิลิน เบื้องต้นคือ Amoxicillin เรียกง่ายๆว่า อะม็อกซี่ ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัททั้งในและต่างประเทศผลิตยาตัวนี้ขึ้นมาขายกันมากมาย แล้วแต่บริษัทไหนจะตั้งชื่อว่าอะไร ใช้แคปซูลยาสีอะไร ยาอีกกลุ่มที่เป็นยาเบื้องต้นในการรักษาหวัดไวรัส สำหรับคนแพ้เพนนิซิลิน คือ Roxithromycin ชื่อยี่ห้อคือ Rulid ซึ่งก็มียาในประเทศผลิตยาตัวนี้ออกมาอีกหลายบริษัท ใช้ชื่อยี่ห้อต่างๆกันอีกเช่นกัน เพราะฉะนั้น คนไข้ควรอ่านชื่อยาด้วยว่ากินยาอะไรเข้าไป ก่อนจะพบหมอหรือซื้อยาตัวใหม่ในร้านขายยา นอกจากนี้ยาแต่ละอย่างมีวิธีกินไม่เหมือนกัน เช่น กินครั้งละ 1 เม็ด หรือครั้งละ 2 เม็ด วันละกี่ครั้ง บางตัวกินหลังอาหาร บางตัวกินก่อนอาหาร บางตัวให้กินนาน 3 วัน บางตัว 5 วัน หรือ 7 วัน เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีความรู้ ควรปรึกษาแพทย์ อย่าซื้อยากินเอง
หลักการกินยาฆ่าเชื้อ คือ ถ้าทหารในตัวเราคือเซลล์เม็ดเลือดขาวแข็งแกร่งไม่พอในการต่อสู้กับเชื้อโรค จนเราต้องกินยาฆ่าเชื้อ เหมือนเราส่งอาวุธเข้าไปช่วยในการต่อสู้ เพราะฉะนั้นส่งอาวุธเข้าไป ต้องให้ตู้มเดียวจบ กินยาให้ถูกขนาด ครบมื้อ ครบจำนวนวัน ฆ่าเชื้อให้หมด ไม่ใช่กินนิดๆ กินบ้างไม่กินบ้าง กินแบบคิดว่าเป็นยาแก้เจ็บคอ พอหายเจ็บคอก็เลิกกิน พอเชื้อแบคทีเรียเจออาวุธเราเข้าไป จำนวนหนึ่งก็ตาย อีกจำนวนหนึ่งยังไม่ตาย ก็กลับไปพัฒนาอาวุธตัวเองกลับมาต่อสู้ใหม่ กลายเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดดื้อยา เพราะเคยเจออาวุธเราแล้วรอดมาได้ พอแบ่งตัวเพิ่มก็มีแต่ตัวพวกที่สู้อาวุธเราได้ทั้งนั้น เราก็จะกลายเป็นพวก "เป็นหวัดเชื้อดื้อยา" ไป สำหรับไข้หวัดใหญ่ เป็นเชื้อไวรัส โดยไวรัสจะไปทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจของเรา เหมือนโดนทำลายรั้วบ้าน โจรอื่นก็เข้ามาง่ายขึ้น เมื่อติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ จึงอาจจะมีติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมวันหลังได้ โดยอาการตอนแรกเป็นเหมือนไวรัสร่วมกับอาการหวัด พอกินยาฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ ก็ไข้ลง หายปวดตัว ทานข้าวได้ ต่อมาอีก 2-3 วันมีไข้กลับขึ้นมาอีก เสมหะเปลี่ยนสีเป็นเหลืองเขียว แสดงว่าโดนแบคทีเรียเข้าแล้ว ก็อาจจะต้องกินยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก ยาแก้คัดจมูก ยาแก้ปวดลดไข้ ยาอม ยาพ่นคอ ยาบ้วนปากกลั้วคอ เหล่านี้เป็นยาตามอาการ ลดอาการหวัดต่างๆ ช่วยให้รู้สึกสุขสบายขึ้น สามารถทานยาตามอาการได้ และหยุดเมื่อไม่มีอาการ เพื่อรอจนกว่ายาฆ่าเชื้อจะออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้หมด ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงประวัติการแพ้ยา และผลข้างเคียงของยาบางตัวที่อาจจะทำให้ง่วง ใจสั่น ท้องผูก ฯลฯ ซึ่งคนไข้ควรจำชื่อยาไว้ว่าชอบหรือไม่ชอบยาตัวไหน เพื่อซื้อหรือแจ้งหมอในครั้งต่อไป
เมื่อรับประทานยารักษาโรคหวัดแล้ว ให้สังเกตอาการว่าดีขึ้นบ้างหรือไม่ ถ้าดีขึ้น สบายตัวขึ้น แสดงว่ายาได้ผลดี แต่ถ้าไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง 2-3 วัน ก็ควรจะกลับมาพบแพทย์ หรือดีขึ้นเหมือนจะหาย แต่พอหยุดยาฆ่าเชื้อ อาการกลับมาเป็นอีก กลับมาเจ็บคอ มีไข้ ไอ มีเสมหะอีก ควรกลับมาพบแพทย์เพื่อพิจารณาว่าเชื้อดื้อยาหรือไม่ ต้องให้ยาฆ่าเชื้อตัวเดิมต่อหรือควรปรับยาฆ่าเชื้อให้แรงขึ้นหรือไม่ หรือบางครั้งอาจจะดีขึ้น แต่หายไม่สนิท เช่น พอหายหวัด ก็ยังไอค้อกแค้กๆ มาเรื่อยๆเป็นเดือน มีน้ำมูก คัดจมูก มีเสมหะติดคอตลอด มีไข้ตัวรุมๆ เป็นบางครั้ง บางคนปล่อยให้เป็นต่อมาอีกนาน 1-2 เดือน จนลืมไปแล้วว่าเริ่มต้นจากการเป็นหวัด ก็อาจต้องกินยาฆ่าเชื้อหรือกินยาตามอาการต่อจนกว่าจะหายสนิทกลับมามีสุขภาพแข็งแรง 100% เหมือนเดิม
โรคแทรกซ้อนที่มาจากหวัด หากเป็นหวัด อาจจะมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวเดิม หรือลักษณะของร่างกายที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อในส่วนอื่นข้างเคียงร่วมด้วย เช่น ไซนัสอักเสบ เมื่อเป็นหวัด มีน้ำมูก มีเยื่อจมูกบวมที่ทำให้คัดจมูก จนลามขึ้นไปถึงโพรงไซนัสที่อยู่ข้างโพรงจมูกและหน้าผาก ทำให้มีหนองหรือน้ำมูกอยู่ในโพรงไซนัสด้วย เรียกว่า ไซนัสอักเสบ จะมีอาการปวดโพรงไซนัส เสียงอู้อี้ขึ้นจมูก หายใจมีกลิ่นเหม็น การรักษาใช้ยาคล้ายๆรักษาหวัด แต่อาจจะเป็นยาฆ่าเชื้อที่แรงขึ้น ซึ่งควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ รวมทั้งการล้างจมูกด้วยตนเองก็ช่วยลดปริมาณเชื้อโรค และทำให้หายใจโล่งขึ้นได้ หูอักเสบ เนื่องจากหูและคอมีท่อที่เชื่อมต่อกัน คือ ท่อยูสเตเชียลทิ้วบ์ เมื่อเป็นหวัด เยื่อบุต่างๆบวม ทำให้เยื่อที่บุอยู่ในท่อนี้บวมไปด้วยจนตีบตัน จึงไม่สามารถระบายแรงดันอากาศในช่องหูชั้นกลางออกมาได้ ทำให้ปวดหู หรือบางครั้งเชื้อโรคอาจจะลามขึ้นไปติดเชื้อในหูชั้นกลาง ทำให้เกิดเป็นหูอักเสบ หรือหูน้ำหนวกได้ด้วย การรักษาก็ใช้ยาฆ่าเชื้อชนิดที่สามารถฆ่าเชื้อก่อโรคหูอักเสบได้ หรือมียาหยอดหูร่วมด้วย หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เมื่อเชื้อโรคผ่านหลอดลมลงมาส่วนล่าง เข้ามาที่ปอด ก็สามารถทำให้เป็นหลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบได้ จะทำให้ไอมากขึ้น มีไข้ หรือหอบเหนื่อยได้ บางกรณีที่เป็นมาก อาจต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อรับยาฆ่าเชื้อทางเส้นเลือด หอบหืด สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวเดิมเป็นหอบหืด คือหลอดลมมีความไวต่อการถูกกระตุ้น และเกิดการตีบตัว ทำให้หายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย มีเสียงวี้ดในปอด เป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไขอาการหลอดลมตีบด้วยยาขยายหลอดลม คนที่เป็นโรคหอบหืดจึงต้องรีบรักษาหวัดให้หาย อย่าให้เป็นมาก ชักจากไข้สูง มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ให้รีบลดไข้ด้วยการเช็ดตัวหรือทานยาลดไข้ อย่าปล่อยให้เด็กไข้สูงนาน จนเกิดอาการชัก และรักษาหวัดให้หาย การป้องกันโรคหวัด ทำได้ดังนี้
1. โรคหวัดติดต่อทางอากาศ หรือทางสารคัดหลั่งต่างๆที่ออกมาจากตัวผู้ป่วย เช่น ไอจามใส่กัน คนอื่นที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอ อาจจะนอนน้อยพักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย ก็จะติดเชื้อหวัดได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นหวัด ให้ใส่หน้ากากปิดปากปิดจมูกป้องกันไม่ให้ไอจามใส่คนอื่น หรือถ้าไม่อยากติดเชื้อหวัดจากใครเวลาที่ต้องอยู่ในสถานที่ที่มีคนเยอะ รถโดยสารสาธารณะ ห้องประชุม โดยเฉพาะเวลามาโรงพยาบาลที่เป็นแหล่งรวมของเชื้อโรค เราควรใส่หน้ากากป้องกันไม่ให้รับเชื้อ ล้างมือบ่อยๆ โอกาสในการติดหวัดก็จะน้อยลง
2. ถ้าหากเป็นหวัดแบคทีเรียที่มีต่อมทอนซิลอักเสบ เกิน 6 ครั้งต่อปี หรือเกิน 2 เดือนครั้ง ให้ลองปรึกษาแพทย์หูคอจมูกเพื่อพิจารณาผ่าตัดต่อมทอนซิลออก อาจจะทำให้เป็นหวัดน้อยลง
อย่างไรก็ตามหากเป็นหวัดบ่อยมากๆ เป็นเกือบทุกเดือน หรือเป็นหวัดเชื้อดื้อยา ให้กลับมาพิจารณาตนเอง ว่าได้ดูแลสุขภาพตัวเองบ้างหรือยัง ปล่อยให้ร่างกายอ่อนแอจนป่วยบ่อยหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น ให้ปรับสมดุลชีวิตตนเองบ้าง จัดสรรเวลาในการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ลดความเครียดลง หรือทานผักผลไม้เพิ่มขึ้น รับประทานอาหารเสริมที่เสริมภูมิคุ้มกันบ้าง