อย.รุก ทำกรอบแนวทางการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางอินเตอร์เนต

ข่าวทั่วไป Wednesday March 7, 2001 10:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--อย.
อย.ระดมสมอง ประชุมผู้เกี่ยวข้อง กำหนดกรอบแนวทางการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางอินเตอร์เนต หลังยุคอี-คอมเมอร์สเฟื่อง และพบปัญหาการโฆษณาเป็นเท็จ ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด มีผลกระทบต่อความไม่ปลอดภัยของผู้บริโภค หวังให้กรอบแนวทางการโฆษณาฯ เป็นแนวปฏิบัติแก่ผู้ประกอบการค้าทางอินเตอร์เนต เพื่อให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น และจะเป็นประโยชน์ต่อการพาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์ในภาพรวมต่อไป
น.พ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านทางอินเตอร์เนตเกิดขึ้นมากมาย มีทั้งเป้าหมายไปยังผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้พบปัญหาเกี่ยวกับการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่สำคัญข้อมูลที่ให้นั้นเป็นเท็จหรือเกินจริง ทำให้กระทบถึงความไม่ปลอดภัยของผู้บริโภค ดังนั้น อย.ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการกำกับดูแลการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจึงพยายามที่จะดูแลการโฆษณาผลิตภัรฑ์สุขภาพทางอินเตอร์เนตดังกล่าว เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นมีความถูกต้องน่าเชื่อถือ เพื่อให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น จึงมีแนวคิดที่จะกำหนดกรอบแนวทางการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางอินเตอร์เนตขึ้น โดยได้จัดการประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อรับฟังความคิดเห็นและหาข้อตกลงในกรอบแนวทางดังกล่าวในวันนี้ (2 มี.ค 44) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย กลุ่มหน่วยงานที่ดูแลการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพให้เป็นไปตามกฎหมาย ได้แก่ อย.สคบ.กลุ่มหน่วยงานที่ส่งเสริมการค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมอร์ส (E-commerse) เช่น กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC กลุ่มธุรกิจที่ทำการค้าเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิคส์ และกลุ่มธุรกิจที่ให้บริการด้านอินเตอร์เนต รวมทั้งสิ้น 40 คน
รองเลขาธิการฯกล่าวต่อไปอีกว่า กรอบแนวทางการโฆษณาดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของข้อกำหนดที่ว่า จะต้องเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นจริงและไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภค หากมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสรรพคุณ คุณประโยชน์ใดๆ ในชิ้นโฆษณา ต้องมีข้อมูลหลักฐานที่สนับสนุนว่าเป็นจริงตามที่กล่าวอ้าง และไม่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ทั้งนี้เพราะการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางอินเตอร์เนต จัดเป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์ซึ่งเข้าข่าวการกำกับดูแลตามกฎหมาย 8 ฉบับ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อย.เช่น พระราชบัญญัติอาหาร พระราชบัญญัติยา พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น ซึ่งการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางอินเตอร์เนตก็ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับการโฆษณาทางสื่ออื่นๆ อย่างไรก็ตาม การกำหนดกรอบแนวทางการโฆษณาทางอินเตอร์เนตนั้นต้องมีความชัดเจน ที่ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติได้และผู้บริโภคไม่เสียประโยชน์ ซึ่งผลจากการประชุมในครั้งนี้จะนำมาประมวลหาข้อสรุป เพื่อนำมาปรับใช้และพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนของธุรกิจและเทคโนโลยีต่อไป --จบ--
-นห-

แท็ก สมอง   อย.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ