กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
โดย สำนักวิจัย
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
เส้นทางที่จะกล่าวต่อไปนี้ คือ เส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างเมืองสำคัญๆในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) ซึ่งประกอบด้วย 6 ประเทศ คือ ไทย จีน (มณฑลยูนนาน) เวียดนาม กัมพูชา ลาวและเมียนมา ซึ่งชื่อเต็มของเส้นทางเศรษฐกิจสายอาเซียนนี้ คือ ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยได้รับเงินอุดหนุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB (Asian Development Bank) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและบริการ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน, ยกระดับการครองชีพ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสการแข่งขันของประเทศในภูมิภาคนี้ในเวทีการค้าโลก ผ่านการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางคมนาคมทางถนน โดยสามารถใช้เป็นเส้นทางกระจายสินค้า ลำเลียงวัตถุดิบ และส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวในภูมิภาค
1. แนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC) ประกอบด้วย 3 เส้นทางหลัก ระยะทางรวม 1,800 กิโลเมตร คือ
a. เส้นทาง R3E หรือ R3A ซึ่งเชื่อมระหว่างจีนตอนใต้กับลาวและไทย โดยมีจุดเริ่มต้นที่ นครคุนหมิง มายังบ่อหาน บ่อเต็น หลวงน้ำทา และห้วยทรายของลาว แล้วเข้าไทยที่อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยมีปลายทางที่กรุงเทพฯ
b. เส้นทาง R3W หรือ R3B มีจุดเริ่มต้นที่นครคุนหมิงเช่นกัน แต่ผ่านเข้ามาทางเมียนมาที่ท่าขี้เหล็กแล้วเข้าไทยที่จ.เชียงราย โดยมีปลายทางที่กรุงเทพฯเช่นกัน
c. เส้นทาง R5 โดยมีจุดเริ่มต้นจากเมืองหนานหนิงในมณฑลกว่างสี มายังเมืองฮานอยและท่าเรือไฮฟองของเวียดนาม
สำหรับจังหวัดของไทยตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ มี 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพฯ
2. แนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) หรือที่เรียกว่าเส้นทาง R2 หรือ R9 ก็ได้ (จะเรียก R9 เมื่ออยู่ในลาว) ซึ่งเส้นทางนี้มีเพียงเส้นทางหลักเดียว ไม่มีเส้นย่อย เป็นการตัดขวางเชื่อมระหว่าง 2 มหาสมุทร คือ มหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออก หรือทะเลจีนใต้ และมหาสมุทรอินเดียทางตะวันตก โดยมีระยะทาง 1,450 กิโลเมตร เชื่อมโยง 4 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา ไทย ลาว และเวียดนาม โดยมีจุดเชื่อมโยงเมืองสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ เมืองเมาะลำไย หรือมะละแหม่ง และเมืองเมียวดีของเมียนมา กับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เชื่อมไปยังจังหวัดพิษณุโลก ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และจังหวัดมุกดาหารของไทย ต่อไปยังเมืองสะหวันนะเขต และเมืองแดนสะหวันของ สปป.ลาว กับเมืองลาวบาว เมืองเว้ เมืองดองฮา และเมืองดานังของประเทศเวียดนาม
สำหรับจังหวัดของไทยตามแนวเส้นทาง R2 หรือ R9 มี 7 จังหวัด ได้แก่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร โดยจังหวัดพิษณุโลกจะเป็นจุดตัดระหว่างเส้น NSEC และ EWEC ซึ่งเรียกกันว่า สี่แยกอินโดจีน
3. แนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ระยะทางประมาณ 700 กิโลเมตร เป็นการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างไทย-กัมพูชา-เวียดนาม แบ่งเป็น 4 เส้นทางย่อย คือ
3.1 เส้นทางสายกลาง (Central Sub-corridor) หรือเรียกว่าเส้น R1 หรือ R6 มีจุดเริ่มต้นที่กรุงเทพฯผ่านไปยังอ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว แล้วเข้าสู่จังหวัดบันเตยเมียนเจยและพนมเปญของกัมพูชา โดยมีปลายทางที่โฮจิมินห์ ซิตี้และวังเตาของเวียดนาม
3.2 เส้นทางสายเหนือ (Northern Sub-corridor) เริ่มจากกรุงเทพฯไปยังจ.สระแก้วเช่นกัน แต่เมื่อเข้าเขตกัมพูชาแล้ว จะแยกขึ้นเหนือผ่านเสียมราฐ แล้วไปสิ้นสุดที่เมืองกวีเยิน ทางตอนกลางของเวียดนาม
3.3 เส้นทางเลียบชายฝั่งด้านใต้ (Southern Coastal Sub-corridor) หรือเรียกว่าเส้น R10 มีจุดเริ่มต้นที่กรุงเทพฯเช่นกัน แต่จะเลียบชายฝั่งทะเลไปยังจังหวัดเกาะกงและพระสีหนุของกัมพูชา โดยมีปลายทางที่เมืองนามคานของเวียดนาม
3.4 เส้นทางเชื่อมภายในทวีป (Inter-corridor Link) เป็นเส้นทางแนวตั้งผ่านกัมพูชาและลาว โดยจะเชื่อมเส้นทาง 3 เส้นหลักก่อนหน้า และปัจจุบันได้ขยายแนวเส้นทางไปทางตะวันตก ผ่านด่านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ไปสิ้นสุดที่เมืองทวาย
สำหรับจังหวัดของไทยตามแนวเส้นทาง SEC มี 8 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราดและกาญจนบุรี
ผลกระทบจากการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจที่มีต่อประเทศไทย คาดว่าจะกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามแนวพื้นที่การพัฒนา ซึ่งส่งผลต่อการกระจายรายได้และลดปัญหาความยากจน มีการผ่อนคลายกฎ/ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สามารถกระจายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีตลาดสินค้าที่ใหญ่ขึ้น มีการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไป