กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--สามพราน ริเวอร์ไซด์
จบวิศวะฯ แต่ไปปลูกผัก จะทำได้จริงหรือ...? ปลูกผักอินทรีย์ยากนะจะไหวหรือ? จะไปกันรอดหรือเปล่า? ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คำถามที่ถ้าทายเหล่านี้ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จากคนใกล้ชิด และเพื่อนๆ ทั้งของ อภิชาต ศุภจรรยารักษ์ (เน) และศิริพรรณ คำแน่น (ฝน) สองสามี - ภรรยา เจ้าของไร่ "บ้านสวนศุภรักษ์" ป่าละอู อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งต่างจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านวิศวะด้วยกันทั้งคู่ แต่เลือกที่จะลัดวงจรชีวิตหนีความวุ่นวายจากเมืองกรุง หันมาเอาดีด้านการทำเกษตรอินทรีย์แทนการเป็นมนุษย์เงินเดือน 2 ปีที่ล้มลุกคลุกคลานกว่าจะพากันข้ามผ่านอุปสรรคไม่ง่ายเลย แต่ด้วยพลังแห่งฝันบวกกับไฟแห่งความมุ่งมั่น เป็นแรงผลักดันให้พวกเขาได้ค้นพบความสุขชีวิตบนทางสายอาชีพที่เลือกเดิน
ทันทีที่สำเร็จการศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีอภิชาต หรือ เน ชายหนุ่มในวัย 30 ปีเศษ เลือกที่จะไม่กรอกใบสมัครงานบริษัทใดๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่สะดวกใจที่จะต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ ทั้งที่เขาเองเติบโตมาในครอบครัวข้าราชการ คุณพ่อเป็นนักวิศวกร คุณแม่เป็นครู ขณะที่ ฝน หญิงร่างเล็กอายุ 29 ปี ผู้เป็นภรรยา จบ ป.โท สาขาเดียวกัน แต่ไม่ได้มองด้านการเกษตรมาก่อน เธอจึงตัดสินใจไปสมัครงานเป็นมนุษย์เงินเดือนเหมือนคนทั่วไป ยอมเข้างานแต่เช้า กลับบ้านดึกดื่น อดหลับอดนอน เพื่อเคลียร์งานให้เสร็จทันเวลา แต่ก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ได้เพียง 2 ปี ก็แต่งงาน และตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพจากวิศวกรมาสวมบทเกษตรกรจับจอบ จับเสียม เดินตามฝันไปกับผู้เป็นสามี
เน เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นที่เกิดจากความคิดแรก ขณะที่เขาเรียนมาได้ครึ่งทางของชั้นปริญญาโทให้ฟังว่า รู้ตัวเองว่าคงไม่เหมาะจะทำงานสายอาชีพ เพราะไม่ชอบรูปแบบสังคม ที่กะเกณฑ์ กำหนดอะไรไม่ได้เลย ถ้าวันหนึ่งจะต้องไปเป็นมนุษย์เงินเดือนจริงๆ ต้องมีเจ้านาย มีกรอบในการดำเนินชีวิต เราคงทำไม่ได้แน่ จึงตั้งปณิธานกับตัวเองไว้เลยว่าชีวิตนี้จะไม่เขียนใบสมัครงานเด็ดขาด
"ผมฝันอยากทำอาชีพอิสระ เป็นนายตัวเอง สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ และด้วยความที่ชอบการทำเกษตรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็เลยมองว่าอาชีพเกษตรกรนี่แหละ เป็นอาชีพที่เหมาะกับผม เพราะสามารถควบคุมการผลิตเองได้ทั้งระบบ ตั้งแต่วางแผนกระบวนการผลิต เก็บเกี่ยว การตลาด ซึ่งนอกจากเป็นอาชีพอิสระ มองว่ายังได้ทำบุญไปในตัว เพราะได้ผลิตอาหารที่ปลอดภัยให้ผู้บริโภคด้วย" เน เล่า จุดเริ่มต้นเส้นทางแห่งความฝันให้ฟัง
เมื่อตัดสินใจเลือกแล้วว่าจะเดินบนเส้นทางนี้ ก็เริ่มต้นด้วยการปลูกหญ้าเนเปียร์ขาย สำหรับผู้เลี้ยงโคนม ควบคู่กับการขายถุงพลาสติกบรรจุหญ้า เพราะพื้นที่อยู่ใกล้กับโครงการพระราชดำริ ขณะเดียวกันก็เลี้ยงไส้เดือน เพื่อขายมูลไส้เดือน รายได้อาจจะไม่มากนัก แต่รายจ่ายก็ไม่ได้เยอะ เพราะปลูกผักสวนครัว ผักสลัดแปลงเล็กๆ ไว้กินเอง เหลือก็นำไปขายร้านโชห่วยหน้าปากซอย
วันหนึ่งมีเจ้าของร้านสเต๊กมาซื้อหญ้าที่บ้าน เห็นว่าบ้านเรามีผักสลัด จึงมาขอซื้อเอาไปบริการลูกค้าในร้าน และบอกให้เราปลูก จะรับซื้อราคาเดียวกับห้าง เราจึงเริ่มปลูกผักสลัดอินทรีย์อย่างมีความหวัง ขณะที่ผักสลัดกำลังจะเติบโต ร้านสลัดที่บอกว่าจะรับซื้อก็ไม่สามารถเปิดตัวได้ตามวันเวลาที่กำหนด
"ช่วงนั้นการเงินเริ่มร่อยหรอจากการลงทุนเรื่อยๆ และผลตอบแทนที่ได้ไม่มากพอสำหรับอนาคต สารภาพว่ากลัวไปจะไม่รอด จึงบอกกับฝนว่า ถ้าไม่มั่นใจก็กลับไปทำงานเหมือนเดิม แต่ฝนเองก็ยังไม่ถอดใจรอว่า ถ้าถึงจุดหนึ่งที่ไปไม่ไหวจริงๆ ก็จะยอมถอยกลับไปทำงานกินเงินเดือน" เน เล่าช่วงวิกฤตชีวิต
ถึงแม้จะมีเสียงค่อนแคะ เล็ดลอดลอยผ่านเข้าหูให้ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง "อุตส่าห์เรียนจนจบ วิศวะ แต่กลับมาปลูกผัก ปลูกหญ้ากิน" ไม่ได้ทำให้ความตั้งใจเดิม เน หายไป แต่กลับทำให้เขามีความมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็น
"บางครั้งมีท้อใจบ้างเหมือนกัน แต่ถ้าจะไม่โต้เถียงเพื่อยืนยันความตั้งใจจริง เพราะพูดไปมันก็เท่านั้น สู้ลงมือทำเพื่อให้ผลงานประจักษ์ สุดท้ายผลงานพูดแทน ฟังแต่เสียงคนอื่น เราก็จะไม่มีพลังในการก้าวเดินไปข้างหน้าได้เลย" เนและฝน เผยความในใจในช่วงที่ชีวิตถูกกดดัน
แม้ช่วงจังหวะชีวิตที่ดูแย่ๆ แต่พวกเขาก็ยังโชคดีที่ครอบครัว "ศุภจรรยาลักษ์" เข้าใจ ไม่ได้บังคับให้เลือกอาชีพแถมคอยช่วยเหลือสนับสนุนในสิ่งที่ทั้งคู่ทำ คอยเติมพลังในยามท้อ ประคองให้ลูกๆ ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งและมั่นคง
ในเมื่อไม่จมอยู่กับความผิดหวัง การแสวงหาก็ทำให้ทั้งคู่พบกับคุณหลวง หรือคุณสมประสงค์ นาคดี หัวหน้ากลุ่มชุมชนป่าละอู อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งทำเกษตรระบบอินทรีย์เช่นเดียวกัน จึงได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม ช่วยกันผลิตพืชผักอินทรีย์ส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลาง และบริษัทต่างๆ แต่ค้าขายกันมาได้ระยะหนึ่งก็ประสบปัญหาเรื่องราคาเพราะเจอตลาดที่ไม่เป็นธรรม ทำให้คนในกลุ่มรู้สึกท้อ บางคนถึงขั้นอยากเลิกทำอาชีพเกษตรกร
กระทั่งทางกลุ่ม โดยคุณหลวง ได้มีโอกาสได้รู้จักคุณอรุษ นวราช ผู้บริหารสามพราน ริเวอร์ไซด์ และเลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ผู้ริเริ่มและขับเคลื่อนโครงการสามพรานโมเดล ที่มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรระบบอินทรีย์ พร้อมแนะนำช่องทางด้านการตลาด และให้ความรู้ แนะนำแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานระบบชุมชนรับรอง PGS การรับรองแบบมีส่วนร่วม ภายใต้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล หรือ IFOAM ทำให้กลุ่มชุมชนป่าละอู ได้เข้ามาเป็นเครือข่ายของโครงการ สามพรานโมเดล ได้ขายผลผลิตตรงกับผู้บริโภคโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทุกอย่างเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ชีวิตเริ่มมีหวัง
เน ถ่ายทอดความรู้สึกให้ฟังหลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการว่า "สามพรานโมเดล ทำให้ผมมองเห็นอนาคต เห็นโอกาสช่องทางการตลาด เพราะตั้งแต่ทำการค้าขายผลผลิตมา ผมไม่เคยเจอพ่อที่ค้าบอกให้ลูกค้ากำหนดราคาเอง และรับซื้อแบบประกันราคาตลอดทั้งปี แต่โครงการนี้ให้โอกาสนี้เกษตรกร แถมมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทุกเดือนเพื่อตรวจแปลง ให้ความรู้เรื่องระบบการผลิตให้สินค้าได้คุณภาพตามมาตรฐาน ขณะเดียวกันยังหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ให้อีกด้วย
ด้าน อรุษ นวราช ในฐานะผู้ริเริ่มและดำเนินโครงการสามพรานโมเดลมากว่า 5 ปี กล่าวว่า เนกับฝนถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างเกษตรกรรุ่นใหม่ ในเครือข่ายโครงการสามพรานโมเดล ที่มีฝัน มีความตั้งใจจริง และลงมือทำไม่หวั่นต่ออุปสรรค ค้นพบวิธีปลูกผักสลัดระบบอินทรีย์ จนได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และมองเห็นความสำคัญของการรวมกลุ่ม แม้ระยะแรกประสบปัญหาเรื่องการตลาดที่เป็นธรรม ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรทั่วไป แต่หลังจากที่เข้าร่วมโครงการ เราได้เข้าไปให้ความรู้ แนะนำช่องการตลาด รวมถึงแนวทางการผลิตภายใต้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ทำให้เขามองเห็นโอกาส เห็นช่องทางการตลาดที่ชัดเจน ทำมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบัน บนเนื้อที่จำนวน 1 งาน ของไร่ "บ้านสวนศุภรักษ์" เขียวขจีไปด้วยพืชผักชิดต่างๆ โดยเฉพาะผักสลัดชนิด ซึ่งนอกจากส่งเข้าห้องครัวของโรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ แล้ว ส่วนหนึ่งนำมาจำหน่ายตลาดสุขใจวันเสาร์-อาทิตย์ และทางโครงการกำลังขยายช่องทางการตลาดสู่ระบบซื้อขายบนสื่อออนไลน์ ซึ่งจะเปิดให้บริการได้ในเร็วๆ นี้ คาดว่าผักสลัดอินทรีย์ของไร่ บ้านสวนศุภรักษ์ น่าจะได้รับความสนใจไม่น้อย
ส่วนกำลังการผลิต เน บอกว่า อยู่ที่ 30 – 40 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ มีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 12,000บาท แม้ตัวเลขรายได้จะน้อยกว่ามนุษย์เงินเดือน แต่รายจ่ายก็ไม่มาก ยิ่งเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้รับ พวกเขาบอกว่า คุ้มมากที่ตัดสินใจมาทำเกษตรอินทรีย์ ตั้งเป้าว่าจะผลิตให้ได้ 100 กก.ต่อสัปดาห์ สำหรับ ในอนาคตตั้งใจไว้ว่าจะเอาดีด้านผักสลัดแทนการปลูกผักชนิดอื่น ทั้ง แรดิช หัวไชเท้าฝรั่ง สวิตชาร์ด ซึ่งเป็นพืชที่ดีมีคุณประโยชน์อันดับหนึ่งของโลก
เน บอกว่า การปลูกผักอินทรีย์ ไม่ยากอย่างที่คิด เพียง ซื่อสัตย์ อดทน ขยันลงรายละเอียดเกี่ยวกับผักที่เราปลูก คือหัวใจในการปลูกผักอินทรีย์ เราต้องให้เวลาในการดูแลเขา ทุก 3 วัน 7 วัน หรือทุกวันจะต้องลงแปลง ถอนหญ้า สังเกตแมลง ดูความเป็นไปของผัก ว่าวันนี้เป็นอะไร และจะต้องแก้ไขอย่างไร ที่สำคัญต้องใจต้องเย็นมากๆ เพราะเกษตรอินทรีย์ไม่ได้ใส่ปุ๋ยวันนี้แล้วพรุ่งนี้เห็นผล มันอาจต้องใช้เวลานานนับเดือน นับปีด้วยซ้ำไป เพื่อฟื้นสภาพการเป็นอินทรีย์ให้กลับคืนมา
จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ความรัก หรือความเชื่อมั่นในวิถีอินทรีย์ สุดท้ายทั้งคู่ก็ร่วมต่อสู้ ก้าวข้ามอุปสรรค ฝ่าฟันเสียงค่อนแคะ ทำเกษตรอินทรีย์กระทั่ง มีชีวิตอิสระ มีความสุขที่ได้อยู่กับครอบครัวท่ามกลางอ้อมกอดธรรมชาติ กำหนดราคาผลผลิตเองได้ ได้เป็นนายของตัวเอง นอนได้เต็มวันในวันที่ขี้เกียจ ไปเที่ยวได้ทุกที่ในวันที่อยากจะไป ไม่ต้องยื่นใบลา ไม่ต้องรอให้นายเซ็นต์ เหล่านี้คือ รางวัลชีวิต รางวัลแห่งความสุขของคนทำเกษตรอินทรีย์ สุขที่แสนอิสระ ที่หนุ่มสาวออฟฟิศหลายคน แอบวาดฝัน แต่มีสักกี่คนที่สามฝันให้เป็นจริงได้
ภายใต้ โครงการสาม พรานโมเดล ขับเคลื่อนโดยมูลนิธิสังคมสุขใจ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำหรับผู้ที่ต้องการเชื่อมโยง ศึกษาดูงาน ด้านการพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างมีส่วนร่วม หรือทำกิจกรรมร่วมกับโครงการสามพรานโมเดล สามารถสอบถามรายละเอียดต่างๆ ได้ที่ คุณสุทิศ จิราวุฒิพงศ์ 081-668-2165 คุณชฤทธิพร เม้งเกร็ด 081-854-0880 หรือ คลิ๊กดูข้อมูลได้ที่ www.sampranmodel.com หรือFacebook/Sampranmodel